วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย แนะรัฐแก้ปัญหามติรัฐสภายุโรป


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อกรณีที่รัฐสภายุโรปมีข้อมติในวันที่ 8 ตุลาคม 2558 โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า รัฐสภายุโรปมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเสื่อมถอยของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยภายหลัง “การรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย” ในปี 2557, ให้ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพและการใช้สิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยสันติ, เรียกร้องให้ทางการไทยเริ่มถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลทหารไปให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว, เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ, สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยขอแถลงในประเด็นที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้

1.  พรรคเพื่อไทยขอให้รัฐบาลและ คสช.ตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาที่รัฐสภายุโรปได้หยิบยกในข้อมติดังกล่าวและควรแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง มากกว่าที่จะใช้วิธีออกแถลงการณ์ว่าทางรัฐสภายุโรปมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในสถานการณ์ในประเทศไทย  เพราะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรวมทั้งสหภาพยุโรปได้ติดตามปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 ดังนั้นรัฐบาลควรตระหนักว่า ข้อมติดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงควรใช้วิธีการแก้ไขมากกว่าการแก้ตัว

2.  การค้าและการลงทุนจากประเทศในสหภาพยุโรปมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและความกินดีอยู่ดีของคนไทย  เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าใหญ่เป็นลำดับ 3 ของไทย การที่สหภาพยุโรปชะลอการเจรจาสัญญาการค้าเสรีและปฏิเสธที่จะลงนามสัญญาหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทยตราบเท่าที่รัฐบาลทหารยังอยู่ในอำนาจ  จะส่งผลเสียต่อการค้าการลงทุนของสหภาพยุโรปในไทย  ซึ่งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการชาวไทยย่อมจะเสียโอกาสในการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป  เกษตรกรและผู้ผลิตจะขายสินค้าได้น้อยลงและได้ราคาต่ำลงดังนั้นถ้าความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปเสื่อมทรามลงก็จะกระทบตลาดการส่งออกในสหภาพยุโรปซึ่งมีมูลค่าปีละประมาณ 750,000 ล้านบาท

3.  พรรคเพื่อไทยหวังว่ารัฐบาลและ คสช.จะตระหนักในข้อมติของรัฐสภายุโรปดังกล่าวและจะดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพทางการเมือง การคุ้มครองหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรม การดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมโดยเร็วเพื่อให้คนไทยตัดสินอนาคตของตนเองต่อไปโดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะเป็นรากฐานของการปรองดอง ยังจะเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศไทยต้องสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคว่ำบาตรในทางเศรษฐกิจหรือการเมือง ซึ่งจะมีผลเสียต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

12 ตุลาคม 2558
พรรคเพื่อไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น