วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

“พิชัย” ห่วงเศรษฐกิจทรุด เร่งรัฐกระจายรายได้ประชาชน


นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "ความสามารถแข่งขันของไทยลดลง 2 อันดับไปอยู่ที่ 34 จากการจัดอันดับของ World Economic Forum (WEF) ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นปีที่สอง หลังจากปีที่แล้วถูกปรับลดลงแล้ว ซึ่งได้เคยเตือนไว้แล้ว โดยสาเหตุหลักอันดับต้นๆของความสามารถแข่งขันไทยถูกจัดอันดับลดลงมาจากความไม่มั่นคงของรัฐบาลและการมีรัฐประหาร จึงอยากให้ช่วยกันแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อประเทศจะได้มีความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเป็นเรื่องที่จำเป็นในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ซึ่งประเทศต้องสร้างบรรยากาศเปิดกว้างทางความคิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และต้องเร่งการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อไทยจะได้นำมาต่อยอดทำนวัตกรรมเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์ต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกในเดือนสิงหาคมจะเป็นบวกเป็นเดือนแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็อยากให้รักษาให้การส่งออกในเดือนต่อๆไปยังคงเป็นบวกได้ โดยที่หลายฝ่ายรวมถึงแบงค์ชาติก็ยังมีความกังวล"

"ทั้งนี้เพราะการลงทุนภาคเอกชนยังต่ำมาก ถึงแม้จะมียอดการขอการส่งเสริมการลงทุนที่ดีขึ้น โดยคาดว่าปีนี้อาจจะยอดกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งก็ไม่ถือว่าสูงนักเมื่อเทียบกับภาวะปกติ แต่การลงทุนแท้จริงยังมีปริมาณที่ต่ำมาก และอยากให้รัฐเร่งกระตุ้นให้มีการลงทุนจริง ไม่ใช่เป็นแค่ตัวเลขการขอเท่านั้น และในภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซานี้"

"อยากแนะนำให้พลเอกประยุทธ จันทร์โอชาฟังคำแนะนำของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว. คลังที่ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจเร่ิมแผ่วและรัฐควรออกมาตรการกระตุ้น ในขณะที่นายสมคิดกลับไม่เห็นด้วย แนวคิดนายสมคิดที่กลัวว่าการที่รัฐนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องเสียเปล่า น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะในหลักคิดการใช้จ่ายภาครัฐควรดำเนินทั้งการลงทุนในระยะกลางและระยะยาวเพื่อให้ประเทศพัฒนา ในขณะเดียวกันก็ต้องมีเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนประชาชนมีเงินใช้จ่าย อีกทั้งได้รักษาระดับการเติบโตของจีดีพี ให้อยู่ที่ระดับที่เหมาะสม จึงอยากให้พลเอกประยุทธได้พิจารณาและน่าจะเชื่อนายอภิศักดิ์มากกว่า เพราะประชาชนยังลำบากมาก ซึ่งนายสมคิดก็ยังยอมรับเองว่าการกระจายของรายได้ไปให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังต่ำมาก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น