วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"พงศ์เทพ" แนะรัฐบาลแจงบัญชีทรัพย์สิน ข้าราชการ


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า “การกำหนดให้แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินหนี้สินและเปิดเผยบัญชีฯต่อสาธารณชนเป็นมาตรการในการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ ซึ่งให้ประชาชนมาช่วยตรวจสอบด้วย ทำให้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อมูลที่สมบูรณ์มากขึ้น ช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีการเสนอให้เปิดเผยบัญชีฯของผู้ที่ต้องยื่นทุกคน รวมทั้งข้าราชการระดับสูงต่อสาธารณชน แต่ ส.ส.ร.คนหนึ่งซึ่งเป็นข้าราชการแย้งว่าให้ใช้กับคณะรัฐมนตรีเท่านั้นไปก่อนเพราะเป็นของใหม่ แม้รัฐธรรมนูญ 2550 ขยายการเปิดเผยบัญชีฯต่อสาธารณชนให้ใช้กับ ส.ส. และ ส.ว. ด้วย การเปิดเผยบัญชีฯต่อสาธารณชนก็ใช้เฉพาะกับนักการเมืองเรื่อยมา ทั้งๆที่ข้าราชการประจำหลายตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้บัญชาการทหาร ผู้บัญชาการตำรวจ มีอำนาจมากกว่านักการเมือง เช่น ส.ส. ส.ว. และหากจะทุจริตก็หาประโยชน์ในทางมิชอบได้มากกว่านักการเมืองเสียอีก”

นายพงศ์เทพ กล่าวต่อไปว่า “ผลของการเปิดเผยบัญชีฯต่อสาธารณชนซึ่งมีรายละเอียดของทรัพย์สินหนี้สินทำให้เร็วๆนี้สังคมได้เห็นว่านักการเมืองคนหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสวมนาฬิการาคาเรือนละหลายล้านซึ่งไม่ปรากฏในบัญชีฯ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีฯต่อสาธารณชนให้ชัดแจ้ง โดยเพียงบัญญัติในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า มีอำนาจกำหนดตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีฯ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ยังคงไม่กำหนดให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการประจำในตำแหน่งสำคัญต่อสาธารณชน แถมการเปิดเผยบัญชีของนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับเป็นการเปิดเผยข้อมูลโดยสรุป ต่างจากเดิมที่มีรายละเอียด น่าแปลกใจว่าเมื่อเป็นที่ยอมรับกันว่าข้าราชการหลายตำแหน่งมีอำนาจมาก และในระบบปัจจุบันที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่าเป็นรัฐราชการ เหตุไฉนจึงไม่กำหนดให้เปิดเผยบัญชีฯของข้าราชการระดับสูงต่อสาธารณชนด้วย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น