วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

“ชูศักดิ์” ขวางรัฐเอาผิด “พานทองแท้” ชี้ผลพวงรัฐประหาร-ขัดหลักนิติธรรม


นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พนักงานสอบสวน DSI นำโดยอธิบดี ได้แถลงมติของคณะพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2560 ให้แจ้งข้อหา การฟอกเงินแก่นายพานทองแท้ ชินวัตร และพวก โดยให้รวบรวมพยานหลักฐานให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนั้น จากการติดตามรายละเอียดต่างๆ ของคดีนี้ พบว่าคดีเริ่มต้นเมื่อมีการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2549 มีการจัดตั้ง คตส. มีการสอบสวนเอาผิดรัฐบาลในอดีตหลายคดี รวมทั้งคดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับบริษัท กฤษดามหานคร คตส. ได้มีมติให้ฟ้องร้อง นายกฯทักษิณ ชินวัตร และผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมทั้งนายพานทองแท้ ชินวัตร ว่าเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กระทำผิดตาม พ.ร.บ. ความผิดของพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

คดีดังกล่าวอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายพานทองแท้ ชินวัตร และพวก ครั้นเมื่อมีการโอนคดีจาก คตส. มายัง ป.ป.ช. ภายหลัง คตส. สิ้นสุดลง ป.ป.ช. ก็มิได้นำคดีมาฟ้องร้องนายพานทองแท้ ชินวัตร กับพวกแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติเรื่องก็ควรจะยุติสิ้นสุด ภายหลังรัฐประหาร 2557 มีการหยิบยกประเด็นให้มีการดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ ชินวัตร กับพวก ในความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน และข้อหารับของโจร ได้มีการตั้งพนักงานสอบสวน มีรองอธิบดี DSI และพนักงานอัยการ ร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งในที่สุดได้มีมติยุติข้อหารับของโจร เนื่องจากขาดอายุความ ส่วนข้อหาตามกฎหมายฟอกเงิน เห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ กรณีกลับปรากฏตามที่เป็นข่าวว่าได้มีการสั่งย้ายรองอธิบดี DSI คนดังกล่าวไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและมีการเปลี่ยนแปลงแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ โดยให้อธิบดี DSI มาเป็นประธาน สับเปลี่ยนตัวบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของสำนักงานอัยการสูงสุด และในที่สุดก็ได้มีมติออกมาดังกล่าว คือให้แจ้งข้อหาความผิดตามกฎหมายฟอกเงินซึ่งพนักงานสอบสวนชุดเก่าบอกว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

เรื่องดังกล่าว หากพิจารณาข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นมาโดยลำดับ อาจพิจารณาและตั้งคำถามได้ว่า กรณีอาจเข้าข่ายลักษณะเป็นการใช้กลไกและอำนาจทางกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ จากหนังสือร้องเรียนของรองอธิบดี DSI ที่ปรากฏทางสื่อทั้งหลายส่อให้เห็นว่ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และใช้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง และอาจเข้าใจได้ว่าทั้งหมดเป็นผลพวงของการรัฐประหารอีกเช่นกันนั่นเอง จึงเป็นที่น่าห่วงใยว่าการที่เรามีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฏหมายและหลักนิติธรรมนั้น จะมีผลในทางปฏิบัติโดยแท้จริงหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น