วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

"ทวี" แนะรัฐแก้ปัญหาที่ดินทำกิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ปัญหาที่ดินไทย จะเดินหน้าไป ต่อได้อย่างไร ?

มหกรรมที่ดินคือชีวิต ครั้งที่ 2 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “หยุดวิกฤตความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมที่ดินไทย” ระหว่างวันที่ 16 ถึง 17 พฤศจิกายน 2562 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ได้เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมแสดงทัศนะในหัวข้อ “ปัญหาที่ดินไทย จะเดินหน้าไป ต่อได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00 – 14.30 น. ที่ผู้ร่วมเสวนาได้เสนอทัศนะที่มีประโยชน์ ซึ่งสามารถติดตามจากการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ

ในส่วนตัว ได้แสดงทัศนะ ในหัวข้อดังกล่าวและได้ทำการสรุป เพิ่มเติมอธิบายประเด็นที่ได้พูดไว้ ดังนี้

เรื่องปัญหา “ทรัพยากรที่ดิน” เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในการปฏิรูปประเทศ ถ้าปฏิรูปที่ดินไม่ได้ การปฏิรูปด้านอื่นๆก็จะล้มเหลว เมื่อปี 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553 สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรม หัวข้อ “คนจนกับการเข้าถึงความเป็นธรรมในปัญหาที่ดินทำกิน” ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดปรากฏการที่หน่วยงานรัฐ มีนโยบายฟ้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่ทำกินในพื้นที่ป่าเรื่องโลกร้อน และฟ้องประชาชนที่มีความขัดแย้งพิพาทกับรัฐเรื่องที่ดินในป่า ที่ดินสาธารณะอื่นๆ ได้ระดมความคิดเชิญผู้เกี่ยวข้องที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา ผู้ได้รับผลกระทบ และเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่า ในประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน ในส่วนของที่ดินเอกชนนั้น ถือว่าที่ดินเป็น “สินทรัพย์” ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่ให้สิทธิแก่เจ้าของอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีแนวคิด/หลักการเรื่อง “การปฏิรูปที่ดิน” ในกฎหมายที่ดินเลย

ขณะที่ราษฎร เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่มีที่ทำกิน ถือว่าที่ดินเป็นที่ทำกินเพื่อผลิตอาหารให้ผู้คนและรักษาระบบนิเวศน์จะเข้าไปอยู่เป็นชุมชนในที่รัฐประกาศเป็นเขตป่าหรือที่รัฐอื่น จึงเกิดความขัดแย้ง ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ซึ่งรัฐจะดำเนินการเป็นคดีอาญา คดีแพ่งชาวบ้านจะแพ้คดี และถูกบังคับคดี ซึ่งในเวทีระดมความคิดมีข้อเสนอ เช่นให้นิรโทษกรรมและควรงดการบังคับคดีกับประชาชนผู้ยากไร้เข้าไม่ถึงความเป็นธรรม รวมทั้งมีแนวคิดควรยกเลิกโทษอาญาการบุกรุกที่ดินรัฐ ที่เหมือนในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วไม่มีโทษทางอาญา ให้เป็นหน้าที่ของรัฐป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกฯ ให้ใช้การดำเนินการคดีทางแพ่งและ/หรือ มาตรการยึดทรัพย์แทน นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ดินที่ต้องพิสูจน์สิทธิกรณีประชาชนกับรัฐ ตามมติ ครม วันที่ 30 มิถุนายน 2541 มีมากประมาณ 7.7 ล้านไร่ ที่ปัจจุบันยังเป็นปัญหาความเดือดร้อนอยู่ วันนี้ผ่านมา 9 ปี ซึ่งตอนก่อนเข้าเวทีเสวนาได้พบกับพี่น้องทราบว่าปัญหายังไม่ได้แก้ไขไม่คืบหน้า หรือแย่กว่าเดิม

ที่ดินประเทศไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320 ล้านไร่ แยกเป็นที่เอกชนที่กรมที่ดินดูแลมีการออกเอกสารสิทธิ์  128 ล้านไร่ หรือประมาณ 40% ส่วนที่เหลือประมาณ 60% เป็นที่ดินของรัฐ ในที่ดินของรัฐจะไปอยู่ 3 กระทรวง เช่น  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ  ที่เป็นป่าสวน เขตอุทยานฯ ประมาณ 135 ล้านไร่  ที่สาธารณะประโยชน์ไปอยู่กระทรวงมหาดไทย 7.4 ล้านไร่  ที่ราชพัสดุที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ทหารประมาณ 12 ล้านไร่ ไปอยู่กับกทรวงการคลัง แต่ส่วนใหญ่ที่ดินจะเป็นของทหาร เช่นแสมสาร สัตหีบ จะเป็นของทหารเรือ ถ้าจะขอไฟฟ้าใช้ต้องผ่านทหารเรือ  ไปอยู่กับกระทรวงเกษตร ได้แก่ สปก. 40 ล้านไร่ และไปอยู่กับ นิคมสหกรณ์ และนิคมต่างๆ ประมาณ 11 ล้านไร่

ในการแก้ปัญหาที่ดินเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปเร่งด้วนให้เห็นผลภายใน 4 ปี ในเบื้องต้นความปฏิรูป 5 ด้าน คือ

1.การปฏิรูปหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้บัญญัติเรื่อง เกษตรกรให้มีกรรมสิทธิ์และสิทธิในที่ดิน และแก้ไขกฎหมายที่ดิน ป่าเพื่อปฏิรูปที่ดินเกิดผลสำเร็จ การแก้ปัญหาที่ดินโดยแก้ไขกฎหมายไม่ต้องใช้เงิน  แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นต้องใช้เงินมาก  ต้องกล้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ทำให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเป็นรัฐสวัสดิการให้ได้  เราเอาปัญหาเรื่องที่ดิน ป่าไม้ให้เป็นรัฐสวัสดิการให้ได้  ตัวอย่าง เช่น รัฐธรรมนูญ 2517 เคยบัญญัติเรื่องการปฏิรูปที่ดินไว้ ว่า  “รัฐพึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ และสิทธิในที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดินและวิธีการอื่น”  เป็นการเขียนที่ก้าวหน้ามากแต่ใช้ได้ไม่นานได้ถูกเปลี่ยนโดยปฏิวัติรัฐประหารเสียก่อน และถ้ามีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นอกจากที่ดิน ต้องขยายไปถึงที่อยู่อาศัยและครอบคลุมทั้งสิทธิชุม รวมทั้งพิจารณาจำกัดการถือครองที่ดินด้วย ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้บัญญัติไว้เหมือนกันแต่เกษตรกรนั้นต้องยากจนหรือยากไร้ก่อน รัฐจึงจะให้ได้เข้าถึงสิทธิ์ คือการสงเคราะห์  แต่รัฐธรรมนูญปี 2517 นี้ถือว่าสิทธิ์เสมอกัน เพราะที่ดินเป็นสาธารณะสมบัติของชาติ ต้องสาธารณะสมบัติของประชาชน ซึ่งเมื่อที่ดินถ้าได้ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จะทำให้กฎหมายที่ดินและป่าไม้ได้แก้ไขไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญต่อไป

สิ่งที่ต้องปฏิรูปและแก้กฎหมายที่ดินและป่าไม้ คือให้กระจายอำนาจที่ดินให้ชุ่มชนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการ โดยเริ่มที่  สปก. 40 ล้านไร่ กระจายอำนาจโอนไปให้เป็นอำนาจของท้องถิ่นชุมชน ให้นายก อบจ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการ เพราะที่ ส.ป.ก. การจัดที่ดินให้เฉพาะเกษตรกร และเกษตรกรต้องใช้ที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม อาจมีการกำหนดกลไกในการจัดการที่ดินที่โอนให้ชุมชนมีส่วนร่วมและวิธีจัดการที่ชุมนุมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ท้องถิ่นจะรู้ดีว่าใครเป็นเกษตรกรจริง ๆ  เเกิดความแม่นยำ ไม่เกิดความผิดพลาดในการให้เกษตรกรเข้าถึง เนื่องด้วยปัจจุบันนี่ สปก. 40 ล้านไร่ที่ สปก. จัดส่งไปนั้น น่าจะมากถึง 20% ที่ที่ดินเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือของนายทุนหรืออาจจะมากกว่านั้น ถ้าอำนาจถูกโอนไปท้องถิ่นจะได้ที่ดินจากนายทุนคืนมาหลายล้านไร่ ที่วันนี้ สปก. ก็ไม่มีอำนาจเข้าดูแล นอกจาก สปก แล้ว ที่ดินของรัฐอื่น เช่น กระทรวงการคลังต้องกล้าเอาที่ราชพัสดุ เมื่อกันให้ส่วนราชการที่จำกันไปใช้พอแล้วเหลือเท่าใด ส่งคืนไปยังส่วนของท้องถิ่นชุมชนให้บริหารจัดการกันเองด้วย

2. การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของประชาชนให้เพิ่มขึ้น เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย  รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการสถาปนาโครงสร้างอำนาจรัฐให้เข้มแข็ง เป็นเสมือนสร้างพรรคการเมืองขึ้นมา คือ พรรคทหาร กับ พรรคราชการ เมื่อมีการพิจารณางบประมาณ เงินภาษีอากรที่มาบริหารประเทศ ซึ่งมาจากการเก็บภาษีของประชาชน ถูกใช้จ่ายเป็นเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการของข้าราชการที่มีประมาณ 2.5-2.8 ล้านคน มากกว่า 1 ล้านล้านบาท เป็นการแสดงให้เห็นว่าสร้างรัฐราชการ ต้องเปลี่ยนแปลงกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ ให้ประชาชนมีโครงสร้างอำนาจ และเป็นระบบรัฐสวัสดิการ ในเรื่องทรัพยากรที่ดินต้องให้ประชาชนมีสิทธิ์ต้องปฏิรูปการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

3. การปฏิรูปข้อมูล ต้องมีฐานข้อมูลการถือครองที่ดิน ตลอดจนข้อมูลแปลงที่ดินต้องสามารถเข้าถึงตรวจสอบได้ มีนักวิชาการได้พบว่า บางท่านมีที่ดิน 600,000 ไร่ บางท่านไม่มีที่ดิน แต่พอไปถามกรมที่ดินตอบว่าไม่มีข้อมูล กฏหมายที่ดิน มาตรา 6 ที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ที่เป็นโฉนดต่อเนื่อง 10 ปี  และ หากเป็นเอกสารสิทธิ เช่น นส. 3 ปล่อยทิ้งร้างต่อเนื่อง เวลา 5 ปี ถือว่าเอกชนนั้นสละสิทธิ์รัฐจะเอาคืนได้  ปรากฎว่าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเลย ทั้งที่เมื่อขับรถผ่านไปผ่านมาก็จะพบที่รกร้างว่างเปล่าทิ้งร้างจำนวนมาก แต่กฎหมายมาตรานี้ไม่เคยใช้บังคับเลย เพราะมีการถูกรวบอำนาจอยู่ส่วนกลาง จำเป็นต้องปฏิรูปข้อมูล

4. การปฏิรูปแผนที่.ควรมีการจำแนกพื้นที่ การจัดทำแผนที่ให้ถูกต้องมีมาตรไม่ทับซ้อนกัน มีตัวอย่างการทำแผนที่ของรัฐที่คลาดเคลื่อนผิดพลาด เช่น ป่าบูโด-สุไหงปาดี ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ไปทำแผนที่รุกไปที่ชาวบ้านเป็นปัญหาขัดแย้งต้องพิสูจน์สิทธิ์มาถึงปัจจุบัน

5. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เรื่องที่ดิน ป่าไม้ มีคดีที่ดินและป่าไม้ส่วนใหญ่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ถูกรัฐดำเนินคดี ในการต่อสู่คดีข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งต้องใช้หลักฐานจำนวนมาก เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำข้อเท็จจริงขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ควรปฏิรูปให้เป็นระบบไตร่สวน มีการพิสูจน์สิทธิไม่ต้องให้ประชาชนไม่ต้องเป็นผู้การรวบรวมพยานหลักฐานเอง เช่นระบบศาลปกครอง

หลังรัฐประหารปี 2557 ได้เกิดวิกฤตกับชาวบ้านและชุมชนที่อยู่กับป่า คือนโยบายทวงคืนผืนป่าที่สามารถตรวจยึด จับกุม ดำเนินคดีกับผู้ยากไร้ เป็นการพรากชาวบ้าน เกษตรกรและชุมชนไปจากแผ่นดินเกิด ก็จะเกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางสังคม เพราะฉะนั้นควรต้องยกเลิกคำสั่ง คสช นโยบายทวงคืนผืนป่าเพราะ ตอกลิ้มความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีการแก้กฏหมายเพิ่มโทษ เช่น พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่กำลังจะมีผลใช้บังคับได้กำหนดเพิ่มโทษคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติ เป็น จำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000-2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากที่กล่าวตอนต้น ในการระดมความคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรมเรื่องที่ดินเมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553 สมัยเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม มีแนวคิดที่จะ ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดิน ให้ใช้การดำเนินการคดีทางแพ่งและ/หรือ มาตรการยึดทรัพย์สำหรับผู้ที่กระทำผิดหรือมาตราการเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่อ่อนแอไม่เคร่งครัดแทน

อาจสรุปได้ว่า  “การปฏิรูปที่ดินประสบความสำเร็จ มีเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว การปฏิรูปดินประสบความล้มเหลวมีเฉพาะในประเทศที่ด้อยการพัฒนา”

ในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากกฎหมายและความไม่เสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิรูปกฎหมาย ที่ดินและป่าไม้ ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงใจกว้างและกล้าหาญที่จะกระจายอำนาจหรือโอนอำนาจ หรือเปลี่ยนอำนาจให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแทนก็สามารถแก้ปัญหาได้แล้วโดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น