วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"ทวี" แนะรัฐทบทวนกฎหมายห้ามทำแท้ง

“ทวี สอดส่อง” ส.ส.ประชาชาติ ระบุกฎหมายห้ามทำแท้งเขียนไว้ตั้งแต่สมัย ร.1 ใช้เรื่อยมาจนปัจจุบัน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับมิได้  ถ้าไม่แก้ไขจะทำให้เกิดการทำแท้งเสรี

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในญัตติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

พันตำรวจเอก ทวี ได้อภิปรายว่า เรื่องการทำแท้ง ต้องยอมรับว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อประมาณ 216 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2347) มีปรากฏหลักฐานจากสภาผู้แทนราษฎร จนต่อมาได้บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มาตรา 301 ที่บัญญัติว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี’ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ว่ามาตรา 301 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่บัญญัติว่า ‘บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย’ โดยให้เวลาไปแก้ไขภายใน 360 วัน ซึ่งจะครบประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หลังจากนั้นมาตรา 301 สิ้นผลไป เพราะขัดรัฐธรรมนูญ หากไม่แก้ไขกฏหมายจะทำให้ประเทศไทยทำแท้งได้เสรี ซึ่งเหลือเวลาอีก 50 วัน สืบเนื่องจากเป็นการต่อสู้ของนางสาวศรีสมัย เชื้อชาติ ได้ต่อสู้เพราะถูกตำรวจ สภ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จับกุม จากการที่ตนเป็นแพทย์แล้วทำแท้งถูกดำเนินคดี จึงต่อสู้คดีว่าข้อหาทำแท้งตามกฏหมายอาญาขัดรัฐธรรมนูญส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยและมีคำวินิจฉัยว่ามาตรา 301 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญได้วางเงื่อนไขว่าต้องเขียนกฎหมายใหม่ภายใน 1 ปี

พันตำรวจเอก กล่าวอีกว่า การทำแท้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด หรือนับถือศาสนาอิสลาม ถือว่าการทำแท้งเป็นการกระทำผิดหลักศาสนาและเป็นบาป อย่างไรก็ตามการนำกฎหมายฉบับนี้เข้ามาพิจารณา ไม่ใช่การทำแท้งเสรี แต่หากปล่อยไว้พ้นกำหนดจะไม่มีสภาพบังคับจะเป็นเรื่องการทำแท้งเสรีจึงอยากเรียนให้เข้าใจ นี่ไม่ใช่การทำแท้งเสรีแต่จะต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ตลอดระยะเวลา 216 ปีที่ผ่านมาควรจะต้องมีการทบทวน แต่ไม่เคยมีการทบทวนเลย การเสนอแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการลดทอนความเป็นอาชญากรให้ลดลง ในหญิงที่มีความจำเป็นต้องทำแท้งภายในอายุครรภ์ หรือมีบุตรใน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน ไม่มีความผิด แต่ถ้าทำแท้งเกินจากตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์จะมีความผิดต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน รัฐบาลได้ฟังความเห็นจากแพทย์เป็นหลัก ในเรื่องของคำว่า ‘อาชญากร’ นั้นเห็นว่าไม่ได้หมายความถึงคนที่กระทำกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดเท่านั้น แต่ให้รวมถึงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วย ถ้าเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น เพราะกฎหมายไทยในระยะหลังที่ออกโดยคณะรัฐประหารจะเป็นกฎหมายที่ผู้มีอำนาจต้องการจะบังคับยึดครองอำนาจต่อ จึงออกกฏหมายเพื่อบังคับกดทับใช้กับคนไร้อำนาจ ดังนั้นการปฏิรูปกฎหมายอาญาและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องให้เกียรติแก่คุณศรีสมัย เชื้อชาติ ที่ขึ้นมาสู้จนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายอาญาเรื่องการทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจาก 200 กว่าปีมาถึงวันนี้ 

เหตุผลในการทำแท้งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หากยึดหลักการอยู่รอดเป็นมนุษย์ย่อมสำคัญกว่ากฎหมาย สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลต้องมีความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามการที่จะบัญญัติกฎหมาย จะต้องเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ในการอยู่ร่วมกันกฎหมายจะต้องชอบด้วยเหตุผลและอาจจะต้องชอบด้วยศีลธรรม เมื่อถึงวาระที่ 2 ต้องให้ความสำคัญกับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งขึ้น เพราะทางรัฐบาลได้เขียนหลักการที่กว้างมาก กรรมาธิการต้องพิจารณาปรับปรุงว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมและประโยชน์จากกฎหมาย เรื่องการมีบุตรนั้นมีความสำคัญ เราจะทำอย่างไรที่จะให้มนุษย์ที่เกิดมาในประเทศนั้นหรือสังคมนั้นเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ จึงอยากเรียนให้เข้าใจว่าการทำแท้งเป็นภยันตรายต่อสังคมหรือไม่? ผู้ทำแท้งเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหาย หรือเป็นผู้กระทำผิดอย่างไร เราต้องยอมรับว่าไม่ได้ยกเลิกการทำแท้ง แต่ถ้าปล่อยไว้ไม่แก้ไขประเทศไทยจะมีการทำแท้งเสรี และกฏหมายที่มีโทษทางอาญาจะต้องคำนึงถึงภัยอันตรายต่อสังคม มีสัดส่วนที่เหมาะสมไม่ใช่โทษหนักจนกลายเป็นการทารุณกับหญิงที่ประสบปัญหา จะทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฏหมายได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น