วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558

"วีรพัฒน์" ยืนยัน แก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ไม่ผิด-ถอดถอนย้อนหลังไม่ได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย ชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาล่าสุด ดังนี้


ข่าวล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ของ คสช.) มีมติ "ไม่ถอดถอน" 248 "อดีต" ส.ส.
ผมมีความเห็นและข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้

1. ในแง่ "กระบวนการ" การถอดถอนจะ "กระทำย้อนหลัง" ไม่ได้

พึงสังเกตว่า หลังมีการนับผลการลงมติ ประธานในที่ประชุม สนช. ก็ประกาศว่า "มีมติไม่ถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว" ซึ่งก็ย้ำถึงความผิดธรรมชาติและผิดหลักการของกระบวนการทั้งหมดครั้งนี้ เพราะบุคคลทั้ง 248 รายนั้น ได้สิ้นความเป็น "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ตั้งแต่ยุบสภาไปแล้ว

แม้แต่คำพูดของประธานในที่ประชุม สนช. เอง ก็ฟ้องในตัวอยู่ว่ามีมติถอดถอน "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว" ทั้งที่ตำแหน่งที่กล่าวถึงนั้นไม่มีอยู่แล้วในวันนี้

ดังนั้น หากว่ากันไปตามเหตุผล เจตนารมณ์ และตัวอักษรของกฎกติกา (รวมถึงคำพูดที่ออกมาจากปากของประธานในที่ประชุม สนช. วันนี้เอง) การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ย่อมไม่อาจกระทำเมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว การที่ สนช. ภายใต้ระบอบ คสช. ดำเนินกระบวนการมาดังนี้ ตั้งแต่การถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์เรื่อง "จำนำข้าว" ครั้งที่แล้ว หรือแม้ครั้งนี้จะนำไปสู่ผลไม่ถอดถอน 248 อดีต ส.ส. ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ก็ย่อมเป็นกระบวนการที่ผิดและไม่เป็นธรรมมาตั้งแต่ต้น และย่อมเป็นการตอกย้ำว่าการอ้างเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองโดยวิธีการผิดกฎกติกา ยิ่งจะทำให้ปัญหาของบ้านเมืองบานปลายในระยะยาว

ผมเคยอธิบายความเห็นเรื่องนี้ไปหลายครั้ง เช่น ในคลิป "อย่าถอดถอนความยุติธรรมไปจากสังคมไทย" https://www.facebook.com/video.php?v=10202765279887266
---

2. ในแง่ "เนื้อหาสาระ" การแก้ไขให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง จะเป็นการทำผิดได้อย่างไร ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดและผิดเพื้อนไปไม่น้อยไปกว่าในแง่กระบวนการย้อนหลัง หากถามประชาชนทั่วไปที่ยึดมั่นศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากถามว่า ควรถอดถอนใคร ระหว่าง กลุ่มคนที่ให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง กับ ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง ก็คงตอบได้ไม่ยาก แต่วันนี้ คนที่มาจากการแต่งตั้งกลับมาถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้ง

หลายคนสับสนว่ามีประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน ฯลฯ ซึ่งผมเองเคยอธิบายไปแล้วว่า หากจะเอาผิดเรื่องเสียบบัตร ก็อาจพิจารณาดำเนินการเป็นรายบุคคล เพราะไม่ได้เสียบแทนกัน 248 คน จึงไม่ใช่มูลเหตุที่จะนำมาสู่การถอดถอนได้

ที่สำคัญ เรื่องทั้งหมดนี้ เรายังอาจพอจำได้ว่า เดิมทีมีกลุ่มการเมืองที่จะเสียผลประโยชน์หาก ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จึงตีประเด็นจนมีการนำคดีไปสู่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ซึ่งศาลก็วินิจฉัยว่า การที่ 248 อดีต ส.ส. ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งนั้น ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผมคงไม่อาจเห็นพ้องกับศาลได้ และเชื่อว่าประชาชนจำนวนมากก็รู้สึกเช่นกัน น่าคิดว่า พอมาวันนี้ สนช. จำนวนมากที่ลงมติไม่ถอดถอนอดีต 248 ส.ส. จะมองเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร ?
---

3. ในแง่ "การเมือง" การไม่ถอดถอน คือการเตรียมวางตัวฝ่ายค้าน ?

หลายคนสงสัยว่าการไม่ถอดถอนอดีต ส.ส. เพื่อไทย คือการรอมชอมทางการเมืองหรือไม่อย่างไร
หากมองในแง่ดี สนช. จำนวนมากวันนี้คงยังพอมีสติแยกแยะได้ว่าลงมติอย่างไรจึงผิดเพี้ยนน้อยที่สุด
แต่หากมองในแง่อื่น ระบอบ คสช. เองได้ระลึกว่า เมื่อมีการเลือกตั้ง แม้คนของฝ่ายตนจะกุมอำนาจไว้ได้ แต่จะตัดขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามออกไปทั้งหมด ก็อาจดูโจ่งแจ้งจนเกินไป จึงต้องเก็บไว้ให้เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งอาจหมายถึงฝ่ายค้านในแบบที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล หรือ แม้เป็นรัฐบาลแต่ก็อยู่ในโครงสร้างที่มีสภาพเป็นฝ่ายค้านในความเป็นจริงในท้ายที่สุด
---

4. ในแง่ "วุฒิภาวะ" ของผู้ลงมติบางราย ก็น่าคิด

เห็นได้ว่า เสียงมติถอดถอนอดีต ส.ส. ทั่วไปส่วนมากได้ไม่เกิน 60 คะแนน แต่มีอดีต ส.ส. บางรายที่ทำคะแนนได้มากกว่าเพื่อน เช่น อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้รับไป 66 คะแนน หรือ อดีต ส.ส. ที่ออกมาแสดงความเห็นปะทะคารมกับคนบางกลุ่มบ่อย ได้ไป 65 คะแนน ทั้งที่การลงมติเรื่องอดีต 248 ส.ส. ที่แยกสามกลุ่มนั้น ก็มีการกระทำไปในแบบเดียวกัน ควรพิจารณาบนฐานิหตุผลเดียวกัน
แต่เมื่อผลออกมาไม่เท่ากัน ย่อมทำให้น่าคิดว่าการลงมติของ สนช. บางรายนั้น ได้นำเหตุความชอบไม่ชอบส่วนตัวมาใช้ในการตัดสินใจแทนเรื่องเหตุผลและความถูกต้องหรือไม่ ?
---

ที่กล่าวมานี้ หากใครจะอ้างว่าต้องการ "ปฏิรูป" บ้านเมือง ก็ขอให้นำประเด็นเหล่านี้ไปพิจารณาด้วยครับว่าจำเป็นจะปฏิรูปตนเองด้วยหรือไม่ ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น