วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563

"ลดาวัลลิ์" แนะรัฐใช้อารยสถาปัตย์-เบี้ยยังชีพ ดูแลผู้สูงอายุ

"ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์" รับนโยบายผู้สูงอายุปทุมธานี เตรียมดัน อารยสถาปัตย์, เบี้ยยังชีพ 3,000 บาทและกองทุนสร้างอาชีพ ผ่านงบให้ อปท.ดำเนินการ พร้อมเสนอรัฐบาล แจกนาฬิกาวัดความดันและตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ



นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ พร้อมด้วยนายเทอดธนัท สีเขียว รองประธาน นำคณะทำงานฯพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่พบปะและรับฟังปัญหาจากผู้สูงอายุ ที่หมู่บ้านหมู่บ้านรินทร์ทอง ในเขตเทศบาลเมืองคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

ซึ่งผู้สูงอายุต่างสะท้อนปัญหาที่หลากหลายทั้งด้านสวัสดิการสังคม, ปัญหาการเดินทาง, สุขภาพ และการประกอบอาชีพหรือค้าขายในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงเรียกร้องที่จะใช้บริการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ผู้สูงอายุในเขตใกล้เคียงใช้บริการมานาน จึงไม่อยากให้มีการส่งตัวไปโรงพยาบาลอื่นที่เกิดปัญหาต้องทำประวัติผู้ป่วยใหม่และปัญหาในการเดินทางไม่สะดวก


นางลัดดาวัลบิ์ ระบุว่า คณะทำงานฯ ได้รับฟังปัญหาทั่วประเทศ รับเรื่องค้องเรียนมาแล้วมากกว่า 100 เรื่อง อันดับ 1 คือปัญหาทุจริตคอรัปชั่น 2.ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะภาวะตกงานและการค้าขายที่ตกต่ำ  3.ที่ดินทำกินในต่างจังหวัด โดย มี QR Code Application LINE เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์อีกช่องทางหนึ่งด้วย


นางลดาวัลลิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ผลักดันการแก้ปัญหาชาวปทุมธานีที่ได้รับร้องเรียน คือ ปัญหาร้านสะดวกซื้อของกลุ่มทุนใหญ่ ที่จะมาเปิดบริการในพื้นที่ชุมชนหลายแห่งโดยเฉพาะในเคหะหรือหมู่บ้านเอื้ออาทร โดยนายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.เขต 4 ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามในสภา ผู้แทนราษฎรนำสู่การตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาปัญหาในเรื่องนี้แล้วซึ่งเป็นรูปประธรรมการประสานความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาของคณะทำงาน ซึ่งวันนี้นายชัยยันต์ ส.ส.ในพื้นที่ได้ประสานคณะทำงานให้มารับฟังปัญหาผู้สูงอายุ แต่เจ้าตัว ไม่สามารถลงพื้นที่ในวันนี้ด้วยได้เพราะติดภารกิจในสภาฯ


สำหรับนโยบายด้านสังคมเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้น ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ผลักดันโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน สำหรับอายุ 60 ปีขึ้นไปและเพิ่มเป็นขั้นบันไดสูงสุด 1,000 บาท ซึ่งปัจจุบันพรรคเพื่อไทยต้องการผลักดันให้ผู้สูงอายุได้เบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือนโดยไม่แบ่งเกณฑ์อายุ เพื่อสอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยมี 2 แนวทางในการจ่าย คือ โอนเข้าบัญชีหรืออาจส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปจ่ายให้ผู้สูงอายุ เพื่อให้ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย


อีกปัญหาที่สำคัญของผู้สูงอายุคือ "การเดินทาง" ซึ่งภาครัฐต้องจัดงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการด้วย โดยพรรคเพื่อไทยมีนโยบายผลักดัน "อารยสถาปัตย์" หรือทางเดินสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการให้เดินทางได้สะดวก ตั้งแต่หน้าบ้าน ทางขึ้นฟุตปาธและรถบริการสาธารณะ ไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยวและสถานบริการร้านอาหารต่างๆ แม้ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่มีความจำเป็นและความคุ้มค่า และคาดว่า ลงทุนอย่างไรก็ไม่เกินราคาเรือดำน้ำหนึ่งลำที่รัฐบาลปัจจุบันจัดซื้อแน่นอน


นอกจากนี้ ต้องมี "กองทุนสร้างอาชีพผู้สูงอายุ" โดยหาอาชีพที่เหมาะสมและภาครัฐจัดบุคลากรอบรม จัดหาและทำการตลาดให้ รวมถึงการยกระดับด้านสุขภาพ ทั้ง การมีศูนย์สุขภาพที่ดูแลครอบคลุมถึงสุขภาพจิต, การมีอุปกรณ์วัดความดันและเบาหวาน ในลักษณะนาฬิกาวัดการเต้นของหัวใจของนักวิ่ง ปัญหาที่ต้องจัดทำเป็นนโยบายรัฐทั้งหมด คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงสะท้อนจากความต้องการของผู้สูงอายุทั่วประเทศ รวมถึงที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งพรรคเพื่อไทยพยายามจะผลักดันให้สำเร็จ


นางลดาวัลบิ์ ย้ำว่า การอบรมให้ความรู้ผู้สูงอายุและผู้พิการที่มีอยู่ดีแล้ว แต่สิ่งที่ขาดไปและเป็นปัญหาคือ เมื่ออบรมอาชีพและสร้างผลิตภัณฑ์แล้ว ไม่มีตลาดมารองรับหรือไม่มีช่องทางจำหน่าย ดังนั้น รัฐบาลต้องเพิ่มการตลาดโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคและสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุอย่างแท้จริง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น