วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2563

จาตุรนต์ ฉายแสง - มาตรการสู้วิกฤติโควิด19 :ข้อเสนอทางนโยบาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง เผยแพร่บทความ "มาตรการสู้วิกฤติโควิด19 ข้อเสนอทางนโยบาย" โดยมีเนื้อหาดังนี้


สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 แย่ลงอย่างรวดเร็ว ผมได้พยายามเสนอความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหานี้มาเป็นลำดับ แม้จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้ก็เห็นว่ายังควรพยายามเสนอความเห็นที่คิดว่าเป็นประโยชน์จึงได้อาศัยประสบการณ์ความรูจากการที่เคยทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการอุบัติภัยแห่งชาติและคณะกรรมการแก้ไขสถานการณ์โรคไข้หวัดนกซึ่งได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่”.....  ซึ่งเป็นพื้นฐานของแผนป้องกันโรคอุบัติใหม่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอยู่ในปัจจุบัน  ผมได้รวบรวมข้อมูลความรู้จากสื่อต่างๆและการพูดคุยกับผู้รู้ผู้ปฏิบัติเพื่อทำเป็นข้อเสนอ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข ข้อเสนอต่อไปนี้จึงเป็นนโยบายและมาตรการที่มีลักษณะที่เป็นภาพรวมคำนึงถึงการแก้ปัญหาในหลายด้านที่เกี่ยวข้องกัน

ผมได้เคยเสนอความเห็นไปบ้างแล้วว่ามาตรการหรือวิธีการในการรับมือกับโควิด19 เป็นที่รับรู้กันค่อนข้างกว้างขวาง แต่จะแก้ปัญหาได้ดีหรือไม่ขึ้นกับความรวดเร็วทันการณ์ ความเป็นระบบ มาตรการที่ชัดเจน ความเข้มงวดเอาจริงในการใช้มาตรการต่างๆ การตัดสินใจที่เด็ดขาด การทำงานที่โปร่งใส ความน่าเชื่อถือและการมีส่วนร่วมของประชาชน

นโยบายมาตรการที่เสนอนี้อยู่บนพื้นฐานของการมองเห็นจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าประกอบการใช้แนวความคิดว่าในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต้องเตรียมรับกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความพยายามและความหวังว่าจะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

1.ปิดประเทศ : การมีข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศ การห้ามเข้าประเทศ(Travel Strict Restrictions)

2.การกักตัวเฝ้าระวังและการอยู่แยกตามลำพัง( Isolation and Quarantine)

3.การคัดกรองและการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ( Tests and Detection )

4.การเตรียมจัดหาทรัพยากรทางการแพทย์ ( Health Resources )

5.การจัดระยะห่างและการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก (Social Distancing and No Mass Gathering )

6.การห้ามออกจากบ้าน ห้ามเดินทางระหว่างเมืองและการปิดเมือง Home Staying, Travel Restrictions and Lockdown

7.มาตรการทางการเงินและการคลังดูแลธุรกิจทั้งระบบและประชาชนทั้งประเทศสำหรับระยะเวลา 1 ปี

/////////////////////////////////

1.ปิดประเทศ : การมีข้อจำกัดในการเดินทางเข้าประเทศ การห้ามเข้าประเทศ(Travel Strict Restrictions)

1.1 ไม่อนุญาตให้ชาวต่างประเทศทุกประเทศเข้าประเทศไทยยกเว้นกรณีจำเป็นยิ่งยวดเช่นเจ้าหน้าที่ทางการทูต องค์กรระหว่างประเทศหรือผู้มีความจำเป็นทางมนุษยธรรม

1.2วางหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเทศเสี่ยงเช่นมีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป

ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศทั้งผู้มีสัญชาติไทย ผู้อยู่อาศัยถาวรและชาวต่างประเทศจะต้องผ่านการคัดกรองที่เข้มงวดและมีการกักตัวภายใต้กติกาและการแนะนำดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน

1.3 เตรียมระบบคัดกรองและกักตัวที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเดินทางจากประเทศเสี่ยงเข้าประเทศโดยเฉพาะคนไทยที่อาจต้องการกลับจำนวนมาก อำนวยความสะดวกเพื่อให้กลับได้เร็วก่อนที่สายการบินต่างๆจะหยุดบิน

1.4 แจ้งจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศและที่อยู่ระหว่างการกักตัวให้สาธารณชนทราบแบบ real time

1.5 เรียกร้องให้ประชาชนไทยงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ที่ไปประเทศเสี่ยงจะต้องแจ้งสถานที่ที่ไปและวัตถุประสงค์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากเช่นการสัมมนาการแข่งกีฬาหรือร่วมพิธีกรรมทางศาสนา

หมายเหตุ : ตั้งแต่วันที่ประกาศไปถึงวันที่ 30 เมษายน

2.การกักตัวเฝ้าระวังและการอยู่แยกตามลำพัง( Quarantine and  Isolation )

2.1 วางหลักเกณฑ์ในการกำหนดผู้ที่ต้องกักตัวภายใต้ระเบียบและการดูแลของเจ้าหน้าที่เช่นผู้ที่มาจากประเทศเสี่ยง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วย

2.2 จัดหาสถานที่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกักตัวเองเช่นผู้ที่ไม่มีห้องส่วนตัว กำหนดระเบียบวิธีการในการกักตัว มีคู่มือปฏิบัติ คำแนะนำ ข้อห้ามและบทลงโทษ

2.3 วางระบบกลไกในการกักตัวที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวเข้าใจสภาพของผู้กักตัว สร้างระบบสื่อสารและข้อมูลเช่น App ระบบ Big Data

2.4 เตรียมบุคลากรทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่นและสาธารณสุข หาอาสาสมัครและว่าจ้างนักศึกษาเริ่มด้วย 5,000 คน เพื่อใช้ติดตามดูแลผู้อยู่ระหว่างกักตัวและรวบรวมข้อมูลทั้งด้วยการเยี่ยมเยียนและในระบบออนไลน์

2.5 สร้างทีมกำกับดูแลภาคสนาม (surveillance and response team) ไว้เข้าพื้นที่ที่พบปัญหาหนาแน่น

3.การคัดกรองและการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ( Tests and Detection )

3.1กำหนดยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดกรอง เพิ่มการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ที่ควรได้รับการตรวจให้มากขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศที่ประสบความสำเร็จ

3.2 จัดหาน้ำยาและวัสดุอุปกรณ์ที่ในสำหรับห้องปฏิบัติการ และจัดหาเครื่องมือใหม่ๆที่ตรวจได้รวดเร็วและแม่นยำซึ่งมีการผลิตขึ้นแล้วมาให้ได้เร็วที่สุด เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่ใช้การได้และส่งเสริมการสร้าง Test kits ขึ้นเอง


4.การเตรียมจัดหาทรัพยากรทางสาธารณสุข ( Health Resources )

4.1จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อในระหว่างปฏิบัติหน้าที่สำหรับแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขให้เพียงพอ

4.2 ขั้นแรกสร้างโรงพยาบาลชั่วคราวเพื่อรับผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ 5,000 คน ให้โรงพยาบาลต่างๆเพิ่มเตียง สร้างไอซียูและห้องแยกเฉพาะกิจที่ออกแบบขึ้นใหม่ให้ทำได้เร็ว

4.3 จัดหา ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นเช่นเครื่องช่วยหายใจให้ได้มากที่สุด ส่งเสริมให้มีการผลิต

4.4 จัดระบบ sharing  หรือระบบธนาคารเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

4.5 สนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกับต่างประเทศพัฒนายาและวัคซีน

4.6 ส่งเสริมให้มีการผลิตและจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับประชาชนเช่นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ ให้มากที่สุด เน้นให้กลไกการตลาดทำงานให้มากขึ้น โดยรัฐอุดหนุนผู้ผลิตและแจกจ่ายแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงควบคู่ไปด้วย ยกเลิกการควบคุมราคาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ทำให้ไม่เกิดการผลิต

5.การจัดระยะห่างและการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก (Social Distancing and No Mass Gathering )

5.1วางหลักเกณฑ์ในการกำหนดจังหวัดหรือเมืองที่จะต้องปิดสถานที่ต่างๆอย่างที่ทำแล้วในบางจังหวัด รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ว่าควรปิดสถานที่ประเภทใด ห้ามทำกิจกรรมใด

5.2 เตรียมมาตรการล่วงหน้าเพื่อรองรับผลกระทบที่ตามมาทั้งเฉพาะหน้าและในกรณีที่ต้องยืดเวลาออกไป จ่ายเงินเดือน ค่าจ้างแก่ผู้ที่ต้องหยุดงาน เยียวยากิจการที่หยุดงานตามคำสั่งของทางราชการหรือหยุดด้วยความจำเป็น

5.3 ส่งเสริมให้เกิดการอยู่ห่างกัน การปฏิบัติตัวเสมือนเป็นผู้ติดเชื้อเอง การแยกกันระหว่าหลานกับปู่ย่าตายาย

6.การห้ามออกจากบ้าน ห้ามเดินทางระหว่างเมืองและการปิดเมือง (Home Staying, Travel Restrictions and Lockdown)

6.1 แนะนำหรือสั่งให้คนอยู่บ้าน ตามระดับความเสี่ยง มีมาตรการรองรับสำหรับการยังชีพ ทั้งการให้เงินและจัดระบบลอจิสติคทั้งประเทศ

6.2 ในพื้นที่เสี่ยง พิจารณาว่ากิจการใดควรหยุดงาน กิจการใดสามารถใช้วิธีทำงานที่บ้านได้ สร้างระบบการสื่อสารออนไลน์และลอจิสติครองรับ

6.3 ลดการเดินทางระหว่างเมือง

6.4 เมื่อพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงมาก ให้จำกัดการเดินทางไปมากับพื้นที่อื่น ปิดหมู่บ้าน ตำบล หรือเมือง ห้ามเข้าออก และให้อยู่กับบ้าน (lock down)

7.มาตรการทางการเงินและการคลังดูแลธุรกิจทั้งระบบและประชาชนทั้งประเทศสำหรับระยะเวลา 1 ปี

7.1 กำหนดเวลาที่จะแจกเงินให้คนจนและผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศเป็นระยะให้ดำรงชีพได้และปรับเพิ่มตามความจำเป็น

7.2 ให้เงินอุดหนุนให้เอกชนชะลอการเลิกกิจการ ชะลอการปลดพนักงาน คนงาน

7.3 จ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่คนงานพนักงานที่หยุดงาน เยียวกิจการที่ต้องหยุดตามคำสั่งและที่หยุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

7.4 ชะลอการชำระหนี้ ปรับลดหนี้แก่ภาคเอกชน โดยเฉพาะ SME

7.5 ชะลอลดการชำระภาษีแก่ธุรกิจSME ที่ประกอบการไม่ดีหรือขาดทุน

7.6 เพิ่มงบประมาณดูแลด้านสวัสดิการทั้งระบบ

7.7 จัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้เกิดการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

7.8 ออกพรบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมหรือพรก.กู้เงินวงเงิน 500,000 ล้านหรือไม่เกินวงเงินที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ดังที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่กำหนดว่ามาตรการต่างๆจะสำเร็จหรือล้มเหลวคือความรวดเร็วทันการณ์ การเลือกใช้มาตรการได้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพของปัญหา ที่สำคัญต้องเด็ดขาดเอาจริงและกล้าตัดสินใจ

สถานการณ์ข้างหน้าหนักหนามากแน่ ถ้าร่วมมือร่วมใจกันสู้ด้วยแนวทางที่ถูกต้องรวดเร็วทันการณ์ เรายังสามารถลดความเสียหายได้อีกมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น