วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"ขัตติยา" หนุนภาคประชาชน สะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยต่อเวทีโลก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล" อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่าน เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

จากที่เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (หรือกสม.) จากเอเป็นบี และในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ก็จะถึงกำหนดที่ประเทศไทยจะถูกคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) พิจารณาถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยแล้ว ซึ่งการพิจารณาดังกล่าว คณะกรรมการจะไม่เพียงดูจากรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยเพียงอย่างเดียว แต่ให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ และภาคประชาชนได้ส่งรายงานและความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเข้าไปในที่ประชุมเพื่อร่วมพิจารณาด้วย ไม่ว่าจะเป็น Human Rights Watch, Amnesty International, Freedom House รวมทั้งองค์กรด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนระหว่างประเทศต่างๆ ด้วย ซึ่งเดียร์แน่ใจว่าองค์กรต่างๆ ดังกล่าว น่าจะมีข้อมูลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยมากกว่าที่กสม. มีด้วยซ้ำ เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ทำงานรับใช้ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คอยดูแลให้คนได้มีสิทธิและเสรีภาพที่ควรมีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ถูกปิดกั้นที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่ถูกห้ามที่จะชุมนุมอย่างสันติ ไม่นำประชาชนไปขึ้นศาลทหาร และไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน นักวิชาการ นักเรียน และนักศึกษา เพราะมันคือหลักการทางประชาธิปไตยที่ประเทศซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตยควรจะมีให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

น่าเสียดายที่ กสม. ของประเทศไทยถูกลดระดับความน่าเชื่อถือไปเสียก่อน เนื่องจากประเทศอื่นๆ เขามองว่ากสม. ไทยทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ ไม่มีความเป็นกลาง รวมถึงไม่เห็นความคืบหน้าหรือการมีส่วนร่วมของกสม. ต่อคดีต่างๆ ที่มีต้นตอมาจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 จนมีคนตายเกือบ 100 คน ทำให้เดียร์คิดว่า ศักดิ์ศรีของประเทศไทยในเรื่องสิทธมนุษยชนมันไปอยู่ที่ตรงไหน มาในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ กสม. เลยไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอรายงานและความเห็นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เดียร์ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง จึงได้แต่ฝากความหวังไว้ที่ภาคประชาชน ที่น่าจะสะท้อนความจริงไปยังเวทีโลกได้ดีกว่ากสม. ให้ประเทศอื่นๆ ได้ทราบว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ที่แท้แล้วมันมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่เพียงใด และคงต้องคอยจับตาดูผลของการประชุมครั้งนี้ว่าจะส่งผลต่อประเทศไทยไปไนทิศทางใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น