วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ทนายแจงคดีกรุงไทย! ยืนยัน “พานทองแท้” เป็นพยาน เตือนสื่อแพร่ข่าวผิดจากข้อเท็จจริง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นางสาวขัตติยา สวัสดิผล ทนายความผู้รับมอบอำนาจ จากนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ เอกสารไปยังสื่อมวลชนทุกสำนัก โดยมีเนื้อหาดังนี้

เรียน สื่อมวลชนที่เคารพทุกท่าน

จากประเด็นซึ่งเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนในขณะนี้ คือกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (หรือดีเอสไอ) ได้ดำเนินการสอบสวนคดีอาญาในความผิดฐานฟอกเงิน อันสืบเนื่องจากคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษจะต้องทำการสอบสวนพยานเพื่อสรุปสำนวนคดีและส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไป

โดยนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่องขอเชิญมาให้ถ้อยคำ เพื่อเข้าให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารหลักฐาน "ในฐานะพยาน"​ และเพื่อเป็น "ประโยชน์แก่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีนี้" ที่จะส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าของกรมสอบสวนคดีพิเศษในการสอบสวนความผิดอาญาฐานฟอกเงิน จากคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (อันเป็นความผิดมูลฐาน) อยู่บ่อยครั้ง และทุกครั้งจะปรากฏชื่อของนายพานทองแท้ ชินวัตร ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยสื่อแต่ละสำนักจะมีการพาดหัวข่าว นำเสนอข่าวหรือบทความ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งต้องขอชื่นชมและขอบคุณสื่อมวลชนหลายๆ สำนักที่นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงของคดีนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างไรก็ดี กลับมีสื่อมวลชนบางท่านที่ซ่อนตัวอยู่ในสื่อบางสำนัก ได้นำเสนอข่าวต่อสาธารณะและชี้นำสังคมไปในลักษณะที่ว่านายพานทองแท้ ชินวัตร ได้ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดอาญาฐานฟอกเงิน หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานฟอกเงินแล้ว โดยมิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงในคดี และใช้การนำเสนอข่าวในลักษณะเช่นว่านั้นเพื่อผลทางการเมือง ซึ่งเหตุดังกล่าวทำให้นายพานทองแท้ ชินวัตร นั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จากบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้รับทราบถึงความเป็นมาหรือทราบในข้อเท็จจริงของคดีนี้อย่างละเอียด โดยมีการพาดหัวข่าว นำเสนอข่าว และบทความ อาทิเช่น

• "ลูกโอ๊ค-พานทองแท้ มีหนาว ดีเอสไอเร่งสาว ยันชื่อเอี่ยวคดีฟอกเงินกรุงไทย 9.9 พันล้าน"
• "พบอีก "โอ๊ค" มีเอี่ยวฟอกเงินกรุงไทยก้อน 500 ล้าน ปล่อยกู้อาร์เคฯ"
• "ผู้ถูกกล่าวหาขบวนการยักยอกเงินกฤษดามหานครกู้กรุงไทยร่วมกับ "พานทองแท้ ชินวัตร" เข้าพบ DSI 25 ก.พ. นี้"

ทั้งจากการเข้าให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนของบุคคลอื่นๆ ในฐานะพยานในคดีเดียวกันนี้เป็นจำนวนวันละประมาณ 5-10 ปาก ตามที่พนักงานสอบสวนได้แถลงต่อสื่อมวลชนนั้น ก็ไม่ปรากฏภาพข่าวหรือการแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษถึงการเข้าให้ถ้อยคำของพยานเหล่านั้นแต่อย่างใด อันแตกต่างจากกรณีของนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่รับทราบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการประสานสื่อมวลชนเพื่อนัดหมายว่านายพานทองแท้ ชินวัตร จะเข้าไปให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนในวันและเวลาใด อันเป็นการปฏิบัติตนที่แตกต่างจากการปฏิบัติต่อพยานรายอื่นๆ  

ทั้งได้ปรากฏตามราชกิจจานุเบกษาว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 โดยคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2550 "ให้การดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ได้ตรวจสอบพบการกระทำทุจริตในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทในเครือกฤษดามหานครนั้น เป็นคดีพิเศษ" กรณีดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5 ราย (ในขณะนั้น) มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมูลฐานอันนำไปสู่การกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งโดยหลักจะต้องมีการสอบสวนผู้ที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวก่อน แต่ในความเป็นจริงนั้น คือกรมสอบสวนคดีพิเศษกลับยังไม่ได้ดำเนินการสอบสวนกลุ่มผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว การมีหนังสือเชิญให้บุคคลและ/หรือนิติบุคคลต่างๆ ซึ่งรวมถึงนายพานทองแท้ ชินวัตร เพื่อให้ถ้อยคำ คือการเชิญไปในฐานะ "พยาน" ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดมูลฐาน แต่อย่างใด

นอกจากนั้นแล้วจะเห็นได้ว่า คดีนี้เป็นผลิตผลที่เกิดจากการรัฐประหารยึดอำนาจในการบริหารประเทศไปจากรัฐบาลภายใต้การนำของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ขึ้น เพื่อดำเนินคดีกับ ดร. ทักษิณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเริ่มดำเนินคดีในช่วงปี พ.ศ. 2548 นั้น ยังไม่ปรากฏชื่อของ ดร. ทักษิณฯ เป็นผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แต่ได้มีการเพิ่มชื่อของ ดร. ทักษิณฯ เข้ามาเป็นผู้ถูกล่าวหาภายหลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และเมื่อ คตส. ได้มีมติรับเรื่องการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มกฤษดามหานครมาตรวจสอบ จึงได้ปรากฏว่ามีการเพิ่มชื่อของ ดร. ทักษิณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้ถูกกล่าวหาเพิ่ม ด้วยการให้นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์และนายอุตตม สาวนายน กรรมการบริหาร 2 ราย ที่ร่วมลงนามอนุมัติด้วย ได้ให้การต่อ คตส. ในภายหลังว่า ร.ท. สุชาย เชาว์วิศิษฐ ประธานกรรมการบริหาร พูดทางโทรศัพท์แจ้งว่าอย่าถามข้อมูลให้มากนัก ขอให้พิจารณาโดยเร็ว จากนายบุญคลี ปลั่งศิริ ว่า Big Boss ดูดีแล้ว ซึ่งทั้ง ร.ท. สุชายฯ และนายบุญคลีฯ ต่างได้ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง จึงทำให้กลายเป็นคดีนักการเมืองที่มีศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเพียงศาลเดียว และต้องยึดหลักฐานการไต่สวนของ คตส. และ ปปช. เป็นหลักในการพิจารณาของศาล คดีจึงมีความน่าสงสัยในหลายประเด็น เช่น ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร และต่อมาได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ลดวงเงินกู้ (รีไฟแนนซ์) จากเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 14,000 ล้านบาท โดยลดให้เหลือเพียง 4,500 ล้านบาท จนธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวนั้นได้รับความเสียหายเอง ซึ่งโดยหลักแล้ว ผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวจะต้องถูกร้องทุกข์กล่าวโทษและมีความผิดเช่นเดียวกับผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แต่กลับไม่มีการดำเนินคดีในเรื่องนี้ รวมถึงผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ที่ได้ร่วมลงนามอนุมัติสินเชื่อให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร ที่มีจำนวน 5 ราย แต่ถูกดำเนินคดีเพียง 3 ราย จนกระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาจำคุกผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว จำนวน 18 ปี ส่วนผู้บริหารอีก 2 ราย ที่ร่วมลงนามอนุมัติสินเชื่อ กลับไม่ถูกดำเนินคดีเป็นจำเลยแต่อย่างใด และบางรายได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันอีกด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เพื่อเรียนให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงข้อเท็จจริงและฐานะของนายพานทองแท้ ชินวัตร ในคดีนี้ ว่าอยู่ในฐานะ "พยาน" เท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือรับเงินหรือทรัพย์สินจากการกระทำผิดแต่อย่างใด และยินดีให้ความร่วมมือเพื่อให้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ขอความเป็นธรรม ความเสมอภาค ในการปฎิบัติต่อนายพานทองแท้ ชินวัตร ดังเช่นพยานอื่นๆในคดีนี้ที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเป็น "พยาน" โดยที่ไม่ได้แจ้งให้สื่อมวลชนทราบเพื่อให้เป็นข่าว

การนำเสนอข่าวที่เป็นอคติและใส่ร้ายบิดเบือนโดยการชี้นำสังคมให้มีความเข้าใจที่ผิดว่านายพานทองแท้ ชินวัตร มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ทั้งที่ความจริงได้รับหนังสือเพื่อเชิญไปให้ถ้อยคำในฐานะ "พยาน" เท่านั้น ทำให้นายพานทองแท้ ชินวัตร เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเข้าลักษณะการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ หากยังคงมีการนำเสนอข่าวในลักษณะที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่านายพานทองแท้ ชินวัตร กระทำผิดคดีอาญาฐานฟอกเงินนี้แล้ว คณะที่ปรึกษากฎหมายและทนายความจะพิจารณาเสนอให้นายพานทองแท้ ชินวัตร มอบอำนาจให้ดำเนินคดีต่อบุคคลนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานหมิ่นประมาท เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและปกป้องชื่อเสียงต่อไป

นางสาวขัตติยา สวัสดิผล
ทนายความผู้รับมอบอำนาจ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น