วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

พรรคเพื่อไทย เผยแพร่คำแถลง ข้อเสนอในการจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับย่อ)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย เผยแพร่ คำแถลงการณ์ข้อเสนอในการจัดทำและแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ดังนี้

ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จสิ้นและส่งให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงพรรคการเมืองได้พิจารณาและเสนอข้อคิดเห็นตลอดจนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้เกิดความเหมาะสมต่อไป นั้น

  พรรคเพื่อไทยเห็นว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีผลต่อทุกคนในสังคม เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องมีความเป็นประชาธิปไตย และมีสาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมยอมรับได้ แต่เมื่อได้พิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแล้ว มีหลักการและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็นที่นับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของประเทศ อันจะนำไปสู่ปัญหาและวิกฤตของชาติรอบใหม่ พรรคเพื่อไทยจึงขอสรุปประเด็นอันเป็นปัญหาสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. การตั้งโจทย์ในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด
  การร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีนั้น จะต้องเข้าใจปัญหาของประเทศให้ถูกต้องว่าต้นเหตุของปัญหานั้นคืออะไร การตั้งโจทย์หรือปัญหาในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาแล้วก็จะเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นใหม่ และซับซ้อนเข้าไปอีก
  เจตนาของพรรคการเมืองและนักการเมืองรวมถึงความหวังของประชาชนได้ถูกบิดเบือนและทำลายลงไปทุกครั้งเมื่อมีการทำรัฐประหาร โดยคณะรัฐประหารที่มุ่งจะได้อำนาจการปกครองของประเทศได้สร้างเงื่อนไขและความชอบธรรมให้กับตนเอง โดยการโจมตีใส่ร้ายทำลาย ความชอบธรรมของนักการเมืองและรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น เมื่อทำรัฐประหารได้สำเร็จก็มีการสร้างกฎกติกาของตนเองเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย มุ่งเอาผิดกับนักการเมืองและผู้บริหารประเทศที่ตนเองไปยึดอำนาจเขามา และโจมตีนักการเมืองและพรรคการเมืองว่าเป็นต้นตอของปัญหา
  เมื่อมีการตั้งโจทย์ว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นต้นตอของปัญหา จึงนำไปสู่การกำหนดกรอบรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 ปูแนวทางไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ที่มุ่งจำกัดบทบาทของนักการเมืองและพรรคการเมือง ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจและบทบาทให้องค์กรอิสระและศาลโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้น สร้างกระบวนการเพื่อถอดถอนหรือให้นักการเมืองรวมทั้งรัฐบาลพ้นจากตำแหน่งง่ายขึ้น ตั้งแต่สร้างระบบเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เพื่อเตรียมการให้กลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบันได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 
  พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าการตั้งโจทย์หรือปัญหาในการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญผิดพลาดตั้งแต่ต้น อันจะทำให้เกิดปัญหาและวิกฤติในอนาคต หากไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ
2. ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาและสมควรปรับปรุงแก้ไข
  2.1   ระบบการได้มาซึ่ง ส.ส. 
ระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” จะสร้างปัญหาตามมามากมาย ดังนี้
1.) การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นการปิดโอกาสของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่จะเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน ผลการเลือกตั้งจะไม่สะท้อนถึงความต้องการอันแท้จริงของประชาชนในการเลือกผู้แทน 
2.) การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการซื้อเสียงแต่จะทำให้การซื้อเสียงง่ายขึ้น
3.) ผลคะแนนที่ได้รับไม่ได้สะท้อนถึงคะแนนความนิยมที่มีต่อพรรคการเมือง
4.) การนำคะแนนเสียงทุกคะแนนเสียง แม้จะเป็นคะแนนที่แพ้มารวมคำนวณเพื่อคิดคะแนนให้กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่ถือเสียงข้างมากเป็นตัวชี้ขาด 
5.) จะทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบในการเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถส่งผู้สมัครครบทุกเขตได้
6.) ทำให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค ส่งผลให้รัฐบาลอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในการบริหารประเทศ พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดอาจไม่ได้เป็นรัฐบาล เกิดการฮั้วกันทางการเมืองและเกิดระบบผลประโยชน์ตอบแทน รัฐบาลต้องเสียเวลากับการบริหารการเมืองเพื่อความอยู่รอดของตน มากกว่าการที่จะบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนในที่สุดรัฐบาลก็ไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ ถ้าไม่ยุบสภาก็ต้องถูกทำรัฐประหารเหมือนเช่นอดีต
  ข้อเสนอ
  ควรนำระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่ใช้ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาใช้ทำให้ประชาชนมีความเป็นอิสระสามารถใช้สิทธิเลือกตัวแทนของตนตามที่ชอบ และเลือกพรรคที่ตนเองศรัทธาได้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ส.ส.ที่ได้สะท้อนความเป็นผู้แทนของประชาชนมากที่สุด 
  2.2   ระบบการได้มาซึ่ง ส.ว.
  กำหนดให้ ส.ว. ทั้งหมดมาจากการสรรหาของคนเพียงกลุ่มหนึ่ง โดยให้มีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและบุคคลในองค์กรอิสระ แสดงให้เห็นนัยยะว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อต้องการสร้างระบบอำนาจใหม่ให้เกิดการควบคุมและครอบงำศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ กล่าวคือผู้มีอำนาจได้สร้างระบบตัวแทนของตัวเองขึ้นมามีอำนาจเหนือประชาชน 
  ข้อเสนอ
  ควรให้การได้มาซึ่ง ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งทำให้ได้ ส.ว.ที่มีความหลากหลายในวิชาชีพได้ เพราะเปิดโอกาสให้บุคคลในทุกสาขาอาชีพสมัครได้ และยังถือเป็นผู้แทนของปวงชนอย่างเต็มภาคภูมิด้วย
  2.3   ที่มาของนายกรัฐมนตรี
  ที่มาของนายกฯว่าไม่จำต้องเป็น ส.ส. มีนัยสำคัญว่าเป็นการเตรียมแผนรองรับผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบัน หรือบุคคลที่ผู้มีอำนาจเตรียมการไว้ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากคาดหมายได้ว่าหลังการเลือกตั้งต้องได้รัฐบาลผสมแน่นอน และต้องมีการต่อรองตำแหน่งนายกฯ เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้เป็นการหมกเม็ดเพื่อหวังสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการยอมรับของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    ข้อเสนอ
    ควรต้องกำหนดให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น เพื่อให้ได้นายกฯ ที่มาจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน มิใช่อำนาจอื่นๆ
  2.4   การสร้างข้อจำกัดในการบริหารราชการแผ่นดินให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  มีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐบาลอย่างเข้มงวดจนเป็นข้อที่ทำให้กังวลว่าจะมีการใช้ช่องทางดังกล่าวในการล้มรัฐบาลได้โดยง่าย เช่น
  1.) การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อใช้กับองค์กรของตนและกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย และการฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้
  2.) การจำกัดบทบาทพรรคการเมืองและรัฐบาลในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศไว้ตั้งแต่ในชั้นการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ให้ กกต. ตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองได้ด้วย
  3.) การกำหนดว่านโยบายที่จะใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่จัดทำโดย คสช. (ซึ่งมีเป้าหมายไว้ 20 ปี) ซึ่งทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถที่จะกำหนดนโยบายอื่นๆ ได้เอง
  4.) การพิจารณางบประมาณรายจ่ายของสภาผู้แทนราษฎรที่ห้าม ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขที่มาในรายการหรือจำนวนในรายการ หากฝ่าฝืนผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง อันจะทำให้โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในระหว่างนั้นไม่อาจทำได้
  5.) รัฐบาลมีข้อจำกัดในการลงทุนในโครงการสำคัญๆ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนด เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรักษาวินัยการเงิน ต้องแสดงที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สร้างข้อจำกัดให้แก่โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินกู้มาดำเนินการ ทำให้ไม่อาจพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง 
    ข้อเสนอ
  ควรให้อิสระแก่รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในการที่จะกำหนดนโยบายได้ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ผูกพันรัฐบาลไว้กับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาล คสช. กำหนดไว้ การกำหนดข้อผูกพันดังกล่าวจะเป็นข้อผูกมัดประเทศไว้ ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ได้
  2.5   เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญจนกลายเป็น “ซูเปอร์องค์กร”
    รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนักการเมืองได้ นอกจากนี้ยังให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง มีสิทธิชี้ขาดว่าในยามประเทศมีวิกฤตสามารถวินิจฉัยและให้บังคับตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ ซึ่งทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจดังกล่าวอาจตีความได้ถึงการให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือการตรากฎหมายของรัฐสภาตลอดจนอาจชี้ขาดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ เป็นต้น
    ข้อเสนอ
    ควรจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไม่ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ประเพณีการปกครองประเทศตามที่ร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้
  อนึ่ง พรรคเพื่อไทยเห็นว่า องค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ควรอยู่ในระบบเดียวกันกับศาลทั่วไป สมควรแยกเป็นอิสระจากหมวดศาลแล้วตั้งเป็น “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” เหมือนเช่นในอดีต เพื่อจำกัดบทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ ในเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น
  2.6   ให้องค์กรอิสระ (กกต. , ปปช. , คตง.) มีอำนาจเหนือรัฐบาลและรัฐสภา
  องค์กรเหล่านี้สามารถชี้ทิศทาง โดยการท้วงติงไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล โดยอ้างว่ามีการทุจริต ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาขาดความเป็นอิสระในการบริหารราชการแผ่นดินและในการตรากฎหมาย องค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่อต้านนโยบายของรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศและประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะขัดขวางนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาล แม้จะแถลงต่อรัฐสภาแล้วก็ตาม
  ข้อเสนอ 
  การให้อำนาจพิเศษแก่องค์อิสระข้างต้น จะทำให้องค์อิสระสามารถเข้ามาแทรกแซงองค์กรฝ่ายบริหารได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จึงเห็นควรยกเลิกอำนาจในส่วนนี้ขององค์อิสระและให้อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ เป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่
  2.7   การกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากที่สุด จะก่อให้เกิดวิกฤตของชาติในอนาคต
  กำหนดว่าการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาและต้องมีจำนวน ส.ส.จากพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 10 คน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรค และต้องมี ส.ว. เห็นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด การกำหนดเงื่อนไขการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ดังกล่าว จึงทำให้โดยข้อเท็จจริงแล้วจะทำให้รัฐธรรมนูญที่จะใช้บังคับไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างแน่นอน การกำหนดเช่นนี้จะก่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    ข้อเสนอ
  ควรยึดหลักการเดิมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะแม้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจคาดหมายได้ทั้งหมดว่าในวันข้างหน้าสถานการณ์ของประเทศและของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จึงควรให้ผู้มีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้พิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้พลวัตรไปตามสถานการณ์
  2.8   การคงอำนาจของ คสช. และหัวหน้า คสช. ไว้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
บทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช. และหัวหน้า คสช. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งรวมถึงอำนาจพิเศษของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ด้วยนั้น แสดงถึงการไม่ยอมปล่อยวางอำนาจของ คสช. ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร ทำให้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่อาจดำเนินการไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมได้ เพราะ คสช. ยังมีอำนาจควบคุมกลไกอำนาจรัฐไว้ทั้งหมดได้
ข้อเสนอ
ควรตัดบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ คสช. และหัวหน้า คสช. ออก โดยให้ คสช. สิ้นสุดลงทันทีเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว
ด้วยปัญหาต่างๆ ที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น พรรคเพื่อไทยจึงขอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักการและสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามข้อเสนอของพรรคฯ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง

พรรคเพื่อไทย
21 กุมภาพันธ์ 2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น