วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

"เพื่อไทย" แนะ สปท.เดินหน้าปรองดอง-แก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง

พรรคเพื่อไทยส่งประเด็นที่ทางคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง 
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 

พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความเห็น  ดังนี้

1. ข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง

  • 1.1. ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะเวลาเกือบ 10  ปีที่มาผ่านเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย  สาเหตุหลักเริ่มต้นเมื่อมีพรรคการเมืองสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น  ได้รับการยอมรับจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่สามารถต่อสู้ทางการเมืองผ่านระบบรัฐสภาได้ จึงนำไปสู่การหาทางต่อสู้ทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา กล่าวคือ มีการใช้มวลชนในการต่อสู้ขับไล่รัฐบาล จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ส่งผลให้ขยายความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น จนนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน  หากฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งใช้กระบวนการในระบบรัฐสภา และเคารพในกติกาประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันทหารวางตนเป็นกลาง ไม่ก่อการรัฐประหาร ความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น
  • 1.2. มีการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เป็น 2 มาตรฐาน ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติรัฐ/นิติธรรม การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน มีการใช้กระบวนการยุติธรรมและสร้างกลไกทางกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจ และทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
  • 1.3. การขัดขวางการเลือกตั้ง กล่าวคือ มีกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้งจากฝ่ายที่เป็นรองในการเลือกตั้งทั่วไป และไม่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง รวมทั้งการบอยคอตการเลือกตั้ง นอกจากนั้นในการเลือกตั้งบางครั้งเมื่อประกาศผลแล้ว ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ไม่พอใจกับผลการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือล้มการเลือกตั้งอย่างไร้เหตุผล
  • 1.4. การไม่ยอมรับในหลักการประชาธิปไตย มีวาทกรรมในการชี้ให้สังคมเห็นว่า 1 เสียงของประชาชนที่มีความรู้ต่างกัน ควรจะมีไม่เท่ากัน คนที่มีความรู้มากกว่าควรมีเสียงมากกว่าในการกำหนดชะตาชีวิตของประเทศ ซึ่งวาทกรรมนี้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นสังคมเป็นอย่างมาก
  • 1.5. การสร้างวาทกรรมให้เกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม กล่าวคือ มีการสร้าง Hate Speech เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ส่งผลให้สังคมเกิดความเกลียดชัง เคียดแค้น 

2. แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความปรองดอง 

  • 2.1. ต้องอาศัยความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมของฝ่ายต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัญหา ทั้งฝ่ายพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ ฝ่ายองค์กรวิชาชีพ และองค์กรเอกชน ฝ่ายผู้มีอำนาจในปัจจุบัน (ซึ่งกองทัพก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา) รวมถึงฝ่ายและองค์กรอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • 2.2. ต้องหาสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่ามาจากสาเหตุใดบ้าง ซึ่งในส่วนนี้ คอป. และสถาบันพระปกเกล้าได้เคยศึกษาไว้อย่างละเอียดและครอบคลุมพอสมควรแล้ว สมควรที่จะหยิบยกมาพิจารณาประกอบควบคู่กันไป 
  • 2.3. การจะสร้างความปรองดองได้ ต้องปรับแก้หรือปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของความไม่ปรองดอง หรือเกิดความขัดแย้งในสังคม พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมมีความเป็นธรรม มีหลักนิติธรรม ไม่มีระบบสองมาตรฐานอีกต่อไป เป็นกลไกสำคัญที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมได้ 
  • 2.4. คณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการเรื่องการปรองดองควรมีความจริงใจและตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปรองดอง ควรมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ มีคุณธรรม และสังคมให้การยอมรับ





 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น