วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

"มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล" ร้อง "บิ๊กฉัตร" บูรณาการ พม. แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว


#TV24 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยนายเตชาติ์ มีชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสังคม เรียกร้องให้มีมาตรการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานเชิงรุก

นางสาวอังคณา กล่าวว่า "ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คู่รัก มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลที่มูลนิธิฯเก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว ปัจจัยกระตุ้นสำคัญมาจากการดื่มสุราและยาเสพติด ซึ่งผู้ก่อเหตุมีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยา และมูลเหตุในการกระทำเกิดจากการบันดาลโทสะ หึงหวง และมีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวมาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรง เลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไปช่วยเหลือในปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น"

นางสาวอังคณา กล่าวว่า "จากปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลงานด้านสังคม รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลหยิบยกปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องเร่งป้องกันแก้ไข โดยบูรณาการการทำงานเชิงรุก ร่วมกับกระทรวง พม.กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้สังคมเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผู้พบเห็นเหตุการณ์ต้องเข้าให้การช่วยเหลือหรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาการสูญเสียชีวิต

2. ดำเนินการให้ระบบการเรียนการสอน สร้างความเข้าใจเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้อื่น เคารพให้เกียรติกัน ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา ใส่ใจช่วยเหลือไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว เพื่อเป็นทักษะชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก

3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีกลไกอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน(อพม.)ประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังปัญหาสังคมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และมีการพัฒนาทักษะประสานการทำงานกับสหวิชาชีพในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวให้มากขึ้น

4. ขอให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 เน้นการทำงานเชิงรุกและบูรณาการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในสังคมให้มากขึ้น นอกจากการให้คำปรึกษาแนะนำและประสานส่งต่อปัญหาสังคมทั่วไป และควรมีการประชาสัมพันธ์การทำงานให้ประชาชนรับรู้ให้มากขึ้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น