นายชูศักดิ์ ศิรินิล ฝ่ายกฏหมายของพรรคเพื่อไทย เปิดเผยผ่านทางทีมงานโฆษกพรรคเพื่อไทย กรณีที่หัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งในโครงการจำนำข้าว โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่และกรรมการในการบริหารโครงการและหาผู้รับผิดชอบในทางแพ่งนั้นว่า เห็นได้ชัดว่าคำสั่งดังกล่าวไม่แฟร์ต่ออดีตนายกรัฐมนตรี กรรมการและเจ้าหน้าที่ได้รับความคุ้มครองไม่อาจถูกฟ้องร้องในทางใดๆ ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็ไม่อาจโต้แย้งหรือคัดค้านโดยวิธืใดๆในข้อกล่าวหาและคำสั่งทั้งปวงที่จะมีตามมา จึงไม่ยุติธรรม การที่หลายฝ่ายแสดงความไม่เห็นด้วย เห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ควรที่จะยกเลิกคำสั่งที่ 39/2558 เสียจึงมีเหตุมีผล การใช้มาตรการพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา44ก็บอกอยู่ในตัวของมันเองแล้วว่าไม่แฟร์
นายชูศักดิ์กล่าวว่าส่วนข้อโต้แย้งว่าควรดำเนินการหาผู้รับผิดทางแพ่งโดยใช้กระบวนการทางคดีแพ่งหรือใช้คำสั่งทางปกครองและข้อที่ว่ารัฐบาลต้องเร่งรีบดำเนินการเพราะเกรงว่าคดีจะขาดอายุความนั้นมีความเห็นว่าคดีแพ่งทางละเมิดมีอายุความ1ปีส่วนคดีปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดมีอายุความ2ปีก็จริง แต่ต้องตั้งคำถามว่านับตั้งแต่เมื่อใด ในหลักที่ใช้กันมาให้นับแต่วันที่รู้ตัวผู้ต้องรับผิดและมูลค่าความเสียหายที่จะต้องรับผิด ตราบใดที่ยังไม่รู้ตัวบุคคลและมูลค่าความเสียหายว่าจะต้องรับผิดเท่าไร อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ สอบสวนกันไปปีสองปีสามปีก็ยังไม่เริ่มนับ การอ้างว่าต้องรีบสอบสวนเกรงว่า จะขาดอายุความจึงเป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อน และอาจทำให้เจ้าหน้าที่รีบเร่งสรุปโดยขาดความรอบคอบ
นอกจากนั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่า ก็ต้องคิดว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาศาลแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา อายุความทางแพ่งให้ถือตามคดีอาญา คดีอาญามาตรา157 มีอายุความ15ปี ความวิตกกังวลว่าทางแพ่งจะขาดอายุความจึงไม่น่าจะเป็นประเด็น ส่วนกรณีว่าสมควรดำเนินการโดยใช้การฟ้องคดีแพ่งหรือการออกคำสั่งทางปกครอง เท่าที่ตรวจสอบดูเรื่องการฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้ารัฐบาลที่ดำเนินนโยบายทีแถลงต่อรัฐสภาโดยวิธีการออกคำสั่งทางปกครองของนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาลปัจจุบันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเรื่องการจะใช้กฏหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่จะมีข้อโต้แย้งได้มากว่าเป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งจะขัดต่อหลักสุจริต อีกทั้งเมื่ออ่านกฏหมายดูหลายๆเที่ยวเห็นด้วยกับความเห็นของนักกฏหมายหลายๆท่าน โดยเฉพาะคุณสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป.ป.ช ว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะอยู่ในความหมายและการบังคับตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด การใช้กฏหมายแพ่งธรรมดาก็เคยมีการใช้มาแล้ว ศาลฏีกาก็บอกว่าใช้ได้ ไปนำสืบพิสูจน์กันในศาลจึงน่าจะถูกต้อง ไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องความถูกต้อง ชอบธรรมเหมือนการใช้คำสั่งทางปกครอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น