วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

“เพื่อไทย” ติงสูตรเลือกตั้งใหม่ไม่เป็นสากล-ปัญหาอยู่ที่ผู้แพ้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ต่อระบบการเลือกตั้งที่จะนำมาใช้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีแนวคิดที่จะนำระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” มาใช้ โดยกำหนดมี ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ แต่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยจะนำคะแนนของผู้ที่แพ้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไปคำนวณเพื่อหาจำนวนที่นั่งของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ส่วนคะแนนที่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะถูกตัดทิ้ง ไม่นำมาคำนวณในส่วนของ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เคย  มีใช้มาก่อนในประเทศใด

พรรคเพื่อไทยได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้

1. การพิจารณาว่าจะนำระบบการเลือกตั้งแบบใดมาใช้นั้น ควรต้องพิจารณาปัจจัยด้านต่างๆ และผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบด้าน เช่น โอกาสและความเท่าเทียมกันของพรรคการเมืองในการส่งผู้สมัคร ความต้องการของประชาชน ความมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เป็นต้น นอกจากนี้ต้องเป็นระบบที่จะ  เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวมมากที่สุด ไม่ใช่ระบบที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

2. เมื่อ กรธ. กำหนดให้มี ส.ส. สองประเภท ก็ควรให้ประชาชนได้แสดงเจตนาในการเลือกตั้ง ตามประเภทของ ส.ส. และวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งแต่ละประเภท ดังกล่าว แต่การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ให้เลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองไปพร้อมกันจึงไม่อาจทราบถึงความต้องการของประชาชนได้ว่าที่ลงคะแนนไปนั้น ประสงค์  จะเลือกผู้สมัครหรือเลือกพรรคการเมือง จึงเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน ที่ประสงค์ที่จะเลือกผู้สมัครที่ตนรัก  และเลือกพรรคที่ตนชอบ หรือประสงค์จะเลือกพรรคแต่ไม่ประสงค์จะเลือกตัวบุคคล เพราะในทางปฏิบัติประชาชนอาจไม่ชอบผู้สมัคร แต่ชอบพรรค ชอบพรรคแต่ไม่ชอบผู้สมัคร ระบบนี้จึงไม่ได้สะท้อนความต้องการอันแท้จริงของประชาชน

3. การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่สามารถหยั่งรู้ได้ว่าผู้เลือกตั้งต้องการสนับสนุนตัวบุคคล หรือพรรค  การตัดคะแนนผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งในเขตทิ้งไป และนำเฉพาะคะแนนของผู้สมัครที่แพ้เลือกตั้งไปคำนวณจำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนเสียมากกว่า ประชาชนอาจเลือกผู้สมัคร  แต่ไม่เลือกพรรค เลือกพรรคแต่ไม่เลือกผู้สมัคร หรือเลือกทั้งพรรคและผู้สมัคร แต่คะแนนที่เลือกพรรคกลับถูกตัดทิ้งไป ข้ออ้างที่ว่าเคารพทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกจึงไม่จริง ระบบนี้จึงไม่มีความเป็นธรรม และที่น่าเป็นห่วงมาก คือ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งในระบบเขตมีจำนวน ส.ส. มากอาจไม่ใช่ พรรคเสียงข้างมากในสภา เพราะถูกตัดคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อออกไปหมด

4. ระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 นั้น ได้เคยนำมาใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งประชาชนมีความคุ้นเคยและออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นตลอด ซึ่งระบบการเลือกตั้ง การแบ่งเขตและการคิดคะแนน ก็สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างชัดเจนว่าจะเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองต่างก็แข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น แต่ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่นำเสนอนั้น ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง   อันผิดไปจากวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้ง และระบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองไม่ต้องแข่งขันกันด้านนโยบายมากนัก เพราะถึง  จะแพ้การเลือกตั้งก็นำคะแนนที่แพ้มาคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้อยู่แล้ว

5. ระบบจัดสรรปันส่วน (APPORTIONMENT) ไม่ใช่ระบบสัดส่วน (PROPORTIONAL REPRESENTATION)ซึ่งเป็นระบบที่แท้จริงในการสะท้อนทุกคะแนนไม่ให้สูญเปล่า เพราะจะนับคะแนน  ที่ประชาชนลงคะแนนให้แต่ละพรรค (POPULAR VOTES) แล้วคำนวณที่นั่ง ส.ส. ตามสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคได้มาทั้งประเทศ ดังนั้นระบบจัดสรรปันส่วนจึงไม่ให้ความเป็นธรรมและสะท้อนความนิยมของพรรคอย่างแท้จริง

6. ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ได้ส่งผลให้การซื้อสิทธิขายเสียงลดน้อยลงแต่อย่างใด เพราะเมื่อใช้  บัตรเลือกตั้งใบเดียว ก็ยิ่งจะทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงทำได้ง่ายขึ้น ต่างจากระบบผสมที่กำหนดให้การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งใหญ่ นอกจากนี้ การซื้อสิทธิขายเสียงจะมากหรือน้อย  ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการทางกฎหมายและองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งมากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับระบบการเลือกตั้ง

7. กรธ.ตั้งใจว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นสากล แต่ระบบจัดสรรปันส่วนไม่เป็นสากล และ กรธ. น่าจะ   ฉุกคิดได้ว่าทำไมประเทศแม่แบบประชาธิปไตยและประเทศที่เจริญทั้งทางวัตถุและการเมืองจึงไม่ใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้ง การกล่าวอ้างว่าไทยไม่จำเป็นต้องลอกตำราฝรั่งนั้น ต้องถามว่าระบบรัฐสภา องค์กรอิสระ การแบ่งแยกอำนาจ สิทธิเสรีภาพประชาชน การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การยุบสภา การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เราคิดเองหรือนำองค์ความรู้มาจากต่างประเทศ ?

8. พรรคเพื่อไทยเห็นว่าปัญหาของการเมืองที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพราะระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ดี แต่เกิดจากปัจจัยอื่น เช่น ปัญหาที่ผู้แพ้การเลือกตั้งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และใช้วิธีการเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้องค์กรและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันเป็นต้น ระบบเลือกตั้งแบบผสมที่ใช้ในอดีตนั้นมีข้อดีมากกว่า แม้จะมีข้ออ้างว่ารัฐบาลเข้มแข็งเกินไปก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง เพื่อให้รัฐบาลอ่อนแอลง แต่ควรไปแก้ที่สาเหตุของปัญหา เช่น เพิ่มระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งขึ้น สร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลยระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจให้เหมาะสม เป็นต้น

พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่ใช่เป็นระบบที่เป็นสากล และไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย และการเมืองไทยแต่อย่างใด เป็นระบบที่จะสร้างปัญหามากกว่าจะแก้ปัญหา ระบบที่ กรธ. จะนำมาใช้นั้น ยังไม่เคยใช้มาก่อน ควรต้องศึกษา ผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ถ่องแท้ เนื่องจากประเทศชาติไม่ใช่เครื่องทดลองทางความคิดของ กรธ. ที่คิดอะไรได้ก็จะนำมาใช้ทันที ระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น ควรใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสม ตามรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 เป็นหลัก เนื่องจากเป็นระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และเปิดโอกาสให้เลือกทั้งคน และพรรค  โดยไม่ตัดคะแนนใดๆ ที่ประชาชนมอบให้ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่แพ้เลือกตั้งหรือที่ชนะเลือกตั้งก็ตาม

พรรคเพื่อไทย
5 พฤศจิกายน 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น