วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

“ปลอดประสพ” แนะรัฐหยุดโทษจำนำข้าว หวั่นข้าราชการกลัวถูกดุ-ไม่เตือนภัยแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี" อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


แล้งหน้า กลัวว่าจะเผาจริง

เอาอีกแล้ว จำนำข้าวกลายเป็นสาเหตุของน้ำแล้งปีนี้ไปจนได้ (หยุดจำนำมา 2 ฤดูฝนแล้วนะครับ) ปีที่แล้วเดือนเมษายนก็หาว่ากลัวน้ำท่วมรัฐบาลเก่าเลยระบายน้ำทิ้งทำให้เกิดภัยแล้ง ดีแต่อดีตอธิบดีกรมชลประทานออกมาแก้ตัวว่า ไม่ได้พูดอย่างนั้นเรื่องจึงจบไป (ตอนนี้กำลังเป็นแฟชั่น คือ พูดแล้วบอกไม่ได้พูด) ที่จริงผมก็เกรงใจไม่อยากต่อปากต่อคำ แต่ได้รับคำเตือนว่า หากไม่อธิบายความจริงต่อสาธารณะ ก็อาจจะเกิดความเสียหายถึงขั้นมีคดีไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ดังนั้นจึงขอให้ข้อมูลโดยสังเขป ดังนี้

(1) เมื่อมีการควบคุมอำนาจ (22 พฤษภาคม 2557) คณะคสช/รัฐบาลมีน้ำอยู่ในมือ 214,638 ล้านลูกบาตรเมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็นน้ำในเขื่อน 35,773 ล้านลบ.ม. และน้ำท่า (หนอง บึง แม่น้ำ ลำคลอง) อีกประมาณ 180,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งรวมแล้วเป็นปริมาณมากกว่าในเดือนเดียวกันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสียอีก (33,733 ล้านลบ.ม.) แต่เป็นเพราะการบริหารไม่แม่นยำและคาดการณ์ผิดว่าฝนจะตกตามปกติ จึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงต้นปี 2558

(2) ตัวอย่างเฉพาะเขื่อนภูมิพล ในช่วงรัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ในปี 2552 มีการใช้น้ำ 53% ครั้นปี 2553 ก็ได้ใช้ 42%จากที่มีอยู่รัฐบาลท่านยิ่งลักษณ์ในปี 2554 ได้ใช้น้ำ 45% จากที่มีอยู่ พอปีที่สอง คือ ปี 2555 ได้ใช้น้ำ 33% จากการเก็บน้ำและในปีที่สาม คือ ในปี 2556 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก็ได้ใช้น้ำ 52% จากที่มีอยู่
ส่วนรัฐบาลท่านพล.อ.ประยุทธ์ในปีแรกของท่าน คือ ในปี 2557 ท่านได้ใช้น้ำไป 67% และในปีนี้ 2558 ใน 10 เดือน ท่านได้ใช้น้ำจากเขื่อนไปแล้ว 43% ตัวเลขเหล่านี้จึงเป็นการยืนยันว่า ทุกรัฐบาลได้ใช้น้ำในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน เพราะถูกกำกับและควบคุมโดยคณะกรรมการจัดสรรน้ำซึ่งเป็นของฝ่ายข้าราชการประจำ มีขบวนการควบคุมการเก็บกักและระบาย (Rule Curve) ตามหลักวิชาการที่แม่นยำ ดังนั้นจึงไม่มีรัฐบาลไหนไปสั่งเก็บ สั่งระบายตามใจชอบ ตามความต้องการเฉพาะของตนได้เด็ดขาด
ในแวดวงวิชาการมีการคาดการณ์ว่าปี 2559 จะเป็นปีที่แล้งที่สุดในรอบ 50 ปี ของประเทศไทย เพราะจะมีน้ำให้ใช้สอยจากเขื่อนต่าง ๆ เพียงไม่เกิน 17,000 ล้านลบ.ม. และน้ำท่า คือ น้ำในแม่น้ำลำคลองก็จะมีอยู่อย่างจำกัด ไม่เกิน 100,000 ล้านลบ.ม. (ครึ่งหนึ่งของที่เคยมี)

ผมเห็นว่าสิ่งที่ควรทำที่สุดในขณะนี้ คือ การจัดตั้ง War Room เพื่อการเผชิญเหตุภัยแล้งในขั้นวิกฤต จากประสบการณ์ในฐานะผู้จัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติและเป็นผู้อำนวยการเองอยู่ถึงสองรัฐบาล ผมขอคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในหน้าแล้งหน้า ดังนี้
1. ไม่อาจทำการเกษตรอะไรได้เลย (หรือทำได้แต่น้อยมาก)
2. น้ำทะเลจะหนุนขึ้นมาสูงมากและจะเป็นปัญหาต่อคุณภาพของน้ำประปา (ทั้งกลิ่น รส และการล้างสบู่) และจะทำลายพืชสวนต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนนทบุรี
3. น้ำตามคู คลอง ในกรุงเทพฯ จะเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น มียุงชุกชม (เพราะไม่มีน้ำจืดมาขับไล่ลงทะเลเช่นเคย)
4. น้ำกินน้ำใช้ในชนบทจะขาดแคลนอย่างยิ่ง หนองน้ำซึ่งมีไว้ทำน้ำประปาชุมชนจะต้องหยุดกิจการ
5. น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมจะขาดแคลนและจะหันไปใช้น้ำบาดาลแทน
6. การท่องเที่ยวอาจจะมีปัญหา เพราะจะมีข่าวว่าน้ำประปากรุงเทพฯ เหม็น ไม่สะอาด คูคลองต่าง ๆ น้ำเน่าเสียหมดและสนามกอล์ฟจำนวนมากจะเสียหายย่อยยับ
7. จะมีการแย่งชิงทะเลาะเบาะแว้งในหมู่ประชาชนในเรื่องน้ำกินน้ำใช้ (เหมือนตอนน้ำท่วมในเรื่องปิดเปิดประตูระบายน้ำ)
8. ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดลงต่ำมาก การคมนาคมทางเรือเหนืออยุธยา อาจทำไม่ได้ ส่วนแม่น้ำป่าสักจะมีอุปสรรคอย่างยิ่ง จนกระทบโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ทำให้ต้องใช้การขนส่งทางรถยนต์แทน ซึ่งจะสร้างความโกลาหลในถนนสายเอเชียมากพอสมควร

ที่พูดมาโดยสังเขปนี้ไม่ใช่แช่ง แต่เป็นห่วงมากจริง ๆ และเชื่อว่า ข้าราชการประจำก็อาจจะไม่กล้าพูดความจริง เพราะกลัวความดุของท่าน แต่มันจะเกิดขึ้นครับ

โดยส่วนตัวขออวยพรให้ท่านแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้สำเร็จ อะไรพอจะหยิบจับได้ ยินดีครับ แต่อย่าดุผมนะ เพราะตอนนี้ 70 ปี แล้ว

ขอย้ำว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้น (แน่ๆ) นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ไปแล้วนี้ เกิดจากธรรมชาติบวกน้ำมือมนุษย์ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (Climate Change) ผสมเอลนีโน (El Nino) จึงไม่มีใครจะต่อว่ารัฐบาลได้ แต่ประชาชนทุกคนก็หวังว่ารัฐบาลจะเป็นที่พึ่ง หากรอดแต่สะบักสะบอมก็มีหวังโดนสวดแน่ๆ เหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น