วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคเพื่อไทย ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคเพื่อไทย ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับย่อ) โดยมีเนื้อหาดังนี้


ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคเพื่อไทย ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
(ฉบับย่อ) 

3 พฤศจิกายน 2558

1. ทำไมจึงต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?

 การรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศไปจากรัฐบาลประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ และจัดตั้งองค์กรหรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เกิดมาแล้วหลายครั้ง ดังนั้นโอกาสที่จะเห็น รัฐธรรมนูญที่ดี มีความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากล เคารพในสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม สร้างดุลยภาพ ระบบตรวจสอบที่เหมาะสมและความรับผิดชอบของทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ให้การเคารพในอำนาจตัดสินใจของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการของรัฐ ของประชาชน เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือ

 รัฐประหารในปี 2549 ก่อให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีกับดักมากมายในการบริหารประเทศ มีการสร้างองค์กรสำคัญต่างๆ โดยระบบสรรหา  มิได้มีความยึดโยงกับประชาชน มีการยุบพรรคการเมือง การให้นายกรัฐมนตรีถึงสามคนพ้นจากตำแหน่ง การตัดสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นใดๆ ไม่ได้รับแจ้งข้อหาหรือมีสิทธิต่อสู้คดีตามครรลองของกระบวนการยุติธรรม

ก่อนรัฐประหารปี 2557 ศาลบางศาล องค์กรอิสระหลายองค์กรไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามหลักนิติธรรม มิได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนไปตามกรอบของประชาธิปไตยและกติกาของบ้านเมืองโดย ปราศจากอคติ มีการบุกยึดสถานที่ราชการต่างๆ พรรคฝ่ายค้านก็ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเหมือนก่อนรัฐประหาร 2549 กลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ขัดขวางการเลือกตั้งทุกวิถีทางจนนำไปสู่ความรุนแรงมีคนตายและบาดเจ็บ และมีการประกาศปิดหรือ shut down กรุงเทพมหานคร หลายองค์กรซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นศาลบางศาลหรือแม้แต่หน่วยงานด้านความมั่นคง กลับไม่ทำหน้าที่รักษากฎหมายอย่างที่พึงกระทำ

2. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องตอบโจทย์อะไร?

การรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารให้เหตุผลว่ากระทำไป “เพื่อให้สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย” และยังมีประกาศฉบับที่ 33/2557 ขอความร่วมมือในการปฏิบัติของศาล องค์กรอิสระและองค์กรอื่น ในการงดแสดงความคิดเห็นที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด มีความสับสนหรือเกิดการแตกความสามัคคี

อีกทั้งได้กล่าวไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่า “ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่วางกติกาการเมืองให้รัดกุม เหมาะสม ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรม”

ครั้นเมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ กลับพบว่า

  1. มีการสืบทอดอำนาจ ขัดหลักการประชาธิปไตยพื้นฐาน เช่น การสร้างระบบเลือกตั้งและกลไกจำกัดอำนาจการทำงานตามปกติของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การเปิดโอกาสให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอก การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 123 คนจาก 200 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อสืบทอดอำนาจ การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระและองค์กรต่างๆ ที่ถูกตั้งไว้ในช่วงการรัฐประหารและภายหลังการเลือกตั้ง เป็นกลไกที่มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ การเพิ่มองค์กรและคณะกรรมการใหม่ๆ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่น้อยกว่า 20 องค์กร การกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากมาก เป็นต้น

  2. การอ้างหลักนิติธรรมและนิยามความหมาย แต่เนื้อหาหลักกลับทำลายหลักนิติธรรมทั้งหมด เช่น การกำหนดให้การใช้อำนาจในกรณีจำเป็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ครอบคลุมได้ทั้งทางนิติบัญญัติและบริหาร และให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด การกำหนดให้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือหัวหน้า คสช. หรือการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่ง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด และห้ามฟ้องร้องอีกด้วย

  3. การจำกัดสิทธิของผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาแล้วในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ทั้งๆ ที่ผู้ที่เคยถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองในอดีตเกือบทั้งหมดไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดีและถูกลงโทษย้อนหลัง จึงเป็นการลงโทษซ้ำในความผิดที่เขาไม่ได้กระทำ และไม่มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด

ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จนเกิดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันนี้ขึ้น

ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ต้องตอบก็คือ เราจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล หรือจะร่างรัฐธรรมนูญโดยมีเป้าหมายทางการเมือง

3. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีและไม่ควรมีเนื้อหาสาระอะไร? 

ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวบ่อยครั้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีความเป็นสากล ขณะเดียวกันก็ต้องผสานความเป็นไทยเข้าไปด้วย พรรคเพื่อไทยขอเสนอว่า

1.  รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากลคือ รัฐธรรมนูญที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจทั้งในการเลือกตั้งทุกรูปแบบ และการมีส่วนร่วมอื่นๆ เช่น การลงประชามติ การเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมาย ฯลฯ  อย่างแท้จริง  องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ศาลหรือองค์กรอิสระ ล้วนต้องมาจากประชาชนหรือเชื่อมโยงกับประชาชน

2.  การจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ในรัฐธรรมนูญตามหลักสากล ต้องเป็นไปอย่างมีดุลยภาพ มีความรับผิดชอบและถูกตรวจสอบได้ ไม่ให้องค์กรหนึ่งองค์กรใดอยู่เหนือองค์กรอื่น หรือกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง หรือการกำหนดให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.  รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับความเป็นไทยคือ การเรียนรู้จากพัฒนาการรัฐธรรมนูญที่ตกผลึกเป็นเวลานานในช่วง 83 ปี โดยไม่ขัดแย้งกับหลักสากล เช่น การที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง  ประธานรัฐสภาต้องมาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง การมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร  ตุลาการและองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ตีความและวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ  ระบบเลือกตั้งที่ประชาชนเข้าใจง่ายและสัมผัสได้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว

4.  การบัญญัติให้ทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เป็นสิ่งที่ดีและควรสานต่อ แต่ต้องมีวิธีการให้ประชาชนเข้าใจว่าหลักนิติธรรมที่ถูกต้องและเป็นสากลคืออะไร หลักนิติธรรมที่ถูกบิดเบือนเป็นอย่างไร  ต้องกำหนดให้มีระบบและกลไกตรวจสอบศาลและองค์กรอิสระ การกำหนดให้บุคลากรระดับสูง ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ ไม่ใช่กำหนดแต่รัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเช่นที่ผ่านมา การรายงานผลการดำเนินงานของศาลและองค์กรอิสระต่อรัฐสภา เป็นต้น

5.  ต้องกำหนดห้ามการนิรโทษกรรมแก่ผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญและสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 และต้องกำหนดให้บทบัญญัติเช่นนี้เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

6.  ต้องกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วภายใน 180 วันหรือ 1 ปีต้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงทั่วประเทศ มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม จากนั้นไปทำประชามติ หากผ่าน ก็ไปสู่การบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้นต่อไป

7.  การตัดสิทธิเลือกตั้งนักการเมืองหรือบุคคลใดก็ตามที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าประพฤติมิชอบหรือทุจริตการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผล แต่ต้องชัดเจนว่ากรณีนั้นๆ เกิดขึ้นตามระบบปกติ ไม่ใช่ผลพวงของการรัฐประหาร และบุคคลผู้ถูกตัดสิทธิต้องถูกดำเนินคดีโดยชอบ และจะต้องไม่กำหนดให้เป็นโทษย้อนหลัง มิเช่นนั้นก็จะขัดกับหลักนิติธรรม

8.  ควรกำหนดไม่ให้บุคคลที่แสดงตนไม่ว่าทางความคิดเห็นหรือการกระทำใด โดยชัดแจ้งว่า  เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยและการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญ หรือได้ตำแหน่งหรือผลประโยชน์ใดๆ จากการรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งใดๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

9.  การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะร่างรัฐธรรมนูญให้มีความกระชับ ไม่ลงรายละเอียดที่ปลีกย่อย นับว่าเป็นสิ่งที่ดี  แต่ต้องให้มีความชัดเจนและตรงไปตรงมาในหลักการและกรอบต่างๆ  มิเช่นนั้นผู้ที่จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก อาจอาศัยความไม่ชัดเจนและการซ่อนเงื่อน ไปกำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก จนไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยที่เป็นสากล

10.  การปฏิรูปประเทศ ปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาไปอย่างยั่งยืนนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังซึ่งกันและกัน การวิพากษ์ตนเอง การยอมรับที่จะปรับปรุงตนเอง การไม่ใช้อคติและการมีท่าทีที่ดีต่อกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น