วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
“ยิ่งลักษณ์” ไม่หวังความเป็นธรรม ถามรัฐยึดทรัพย์-ปรองดอง?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ดิฉันได้ฟังคำแถลงของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ใช้เวลานานร่วมชั่วโมงที่จะสร้างความชอบธรรมในการที่รัฐบาลนี้จะใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแทนวิธีการที่กระทรวงการคลังจะฟ้องคดีแพ่งต่อศาล
ดิฉันคงไม่อยู่ในฐานะจะเรียกร้องอะไรหลังจากนี้แม้แต่คำว่า “ความเป็นธรรม” เพราะทุกอย่างคงจะดำเนินการไปตามที่รัฐบาลนี้ต้องการ ดิฉันอยากจะขอฝากข้อคิดให้กับพี่น้องประชาชนได้พิจารณาว่า การกระทำแบบนี้หรือที่ คสช. อ้างว่ายึดอำนาจแล้วจะสร้างความปรองดอง ความเป็นธรรม และ หลักนิติธรรมในประเทศนี้ได้ ดังนี้
1. รัฐบาลเลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น เท่ากับว่ารัฐบาลใช้อำนาจตุลาการแทนศาล และยังเลือกใช้มาตรา 44 คุ้มครองรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่สอบสวนข้อเท็จจริงให้พ้นจากการถูกฟ้องร้องใดๆ จากดิฉันใช่หรือไม่
2. ที่อ้างว่า พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นั้นใช้มานานกว่า 19 ปี และกว่า 5,000 คดี ดิฉันเห็นว่าเวลาและจำนวนคดีไม่ใช่สาระสำคัญที่จะใช้เป็นข้ออ้าง เพราะเชื่อว่ายังไม่มีคดีไหนเหมือนดิฉันซึ่งเป็นคดีแรกที่นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชนถูกยึดอำนาจ ถูกดำเนินคดี จากนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเพื่อช่วยเหลือประชาชน จะเป็นเรื่องของการที่ทำให้รัฐต้องเสียหาย และต้องรับผิดชอบทั้งที่คดีอาญายังไม่เสร็จสิ้น
3. รัฐบาลต้องตอบกับพี่น้องประชาชนด้วยว่า การที่เลือกใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหายนั้น ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และจะรับประกันได้หรือไม่ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่อยู่ภายใต้การชี้นำ แต่สามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างถูกต้องและเที่ยงธรรมเช่นศาล แม้รัฐบาลพยายามที่จะพูดว่าขั้นตอนยังไม่เป็นที่สิ้นสุดและสามารถใช้วิธีการฟ้องคดีแพ่งต่อศาลได้ แต่กลับไม่มีคำตอบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ให้กระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปตามขั้นตอนของศาลยุติธรรมเพื่อเป็นหลักประกันแห่งการอำนวยความยุติธรรมแทนการใช้วิธีให้กระทรวงการคลังออกคำสั่งให้ดิฉันชำระค่าเสียหาย
4. อะไรที่เรียกว่าสร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างร้ายแรง ทั้งๆที่โครงการรับจำนำข้าวได้จ่ายเงินตรงถึงมือชาวนาผ่าน ธกส. ทุกบาททุกสตางค์
5. การเพิ่มประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเป็น “พยานล่วงหน้า” ในคดีอาญา ถือเป็นข้อสังเกตที่เป็นนัยยะสำคัญว่าอาจนำผลการสอบสวนข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติมาทำให้เป็นผลร้ายกับดิฉันในคดีอาญาหรือไม่
สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นข้อสังเกตที่ดิฉันขอฝากไว้กับพี่น้องประชาชนเพื่อพิจารณา คงไม่คาดหวังความเป็นธรรมจากรัฐบาลนี้อีกแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลตัดสินใจอย่างไร กรณีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่คงต้องจารึกในหัวใจของดิฉันและประชาชน และจะเป็นบรรทัดฐานที่นำไปใช้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชนหลังจากนี้ต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น