วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2561

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี : คณิตศาสตร์การเลือกตั้ง, นายกฯคนนอก และการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์


คำเตือน : บทความนี้ยาวมาก และโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

การเปิดให้ลงทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2561 นำความคึกคักให้หวนคืนมาสู่การเมืองไทย
.
กระแสข่าวพรรคใหม่ที่เป็น "ทางเลือกใหม่" อย่างน้อย 2 พรรค ทำให้เกิดความตื่นตัวและตั้งคำถามเกี่ยวกับการได้มาของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และผลพวงที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะประเด็น "นายกฯคนนอก" และ "การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Voting)
.
ผมจึงลองทบทวนกฎกติกาสูงสุดเท่าที่ปรากฎข้อมูลในปัจจุบันว่า ถ้าเป็นตนเอง จะตัดสินใจอย่างไร
.
คณิตศาสตร์การเลือกตั้ง
..................................
ตามมาตรา 83-91 ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 ผมสรุปที่มาของ ส.ส.ได้ว่า
.
ส.ส.ทั้งสิ้น 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน
.
เมื่อผู้เลือกตั้งเข้าคูหาเลือกตั้ง มีบัตรให้ลงคะแนนเพียง 1 ใบ เพื่อเลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่ตนชื่นชอบ หากผู้สมัครในเขตนั้นไม่ได้สังกัดพรรคที่ตนเองนิยม ผู้เลือกตั้งต้องตัดสินใจว่า จะลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพราะมีเลขหมายต่างกัน ไม่สามารถใช้กลยุทธ์ " 1 ใบเลือกผู้สมัครที่รัก อีก 1 ใบเลือกพรรคที่ชอบ" ซึ่งเราคุ้นเคยมาเกือบ 20 ปีได้อีกแล้ว
.
เมื่อปิดคูหาเลือกตั้งแล้วรวมคะแนน ผู้มีคะแนนสูงสุดในแต่ละเขตเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส.
.
จากนั้น คะแนนในแต่ละ "เขตเลือกตั้ง" 350 เขตจะถูกนำมารวมกันทั้งประเทศ ประเทศไทยเสมือนเป็น 1 "มหาเขตเลือกตั้ง"
.
ใน "มหาเขตเลือกตั้ง" มี ส.ส.500 คน ขั้นแรก เอาคะแนนรวมจากทุกเขตเลือกตั้งของ 'ทุกพรรคการเมือง' หารด้วย 500 สมมติผลลัพธ์เท่ากับ X จากนั้น เอา X ไปหารคะแนนรวมจากทุกเขตเลือกตั้งของ 'แต่ละพรรคการเมือง' ได้ผลลัพธ์เท่าไร ถือว่าเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นได้
.
สรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ จะเท่ากับร้อยละของคะแนนเลือกตั้งที่พรรคนั้นได้รวมกันทั้งประเทศ เมื่อเทียบกับ 'บัตรดีที่ลงคะแนนเลือกตั้ง' ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ (ไม่รวมบัตรเสีย ไม่รวม No Vote)
.
เช่น พรรค "ก" ได้คะแนนรวม 20 % คิดเป็นได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 100 คน (20% ของ 500 คน) ไม่มากไปกว่านั้น
.
ถ้าพรรค "ก" ชนะเลือกตั้งในแต่ละเขต รวมแล้วได้ ส.ส.เขต 85 คน ดังนั้น พรรค "ก" จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 15 คน เพื่อรวมให้ครบ 100 คน
.
ถ้าพรรค "ก" มีผู้สมัครที่ไม่โดดเด่น แต่นโยบายพรรคเป็นที่พึงพอใจของประชาชน ทำให้ผู้สมัครในหลายเขตแพ้ "สูสี" และมีผู้ชนะในเขตเลือกตั้งเพียง 40 เขต พรรค "ก" จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 60 คน เพื่อรวมให้ครบ 100 คน
.
ถ้าพรรค "ก" มีผู้สมัครที่โดดเด่นมาก แต่นโยบายพรรคไม่โดนใจประชาชน ทำให้ผู้สมัครในทุกเขตชนะ "สูสี" และมีผู้ชนะในเขตเลือกตั้งถึง 105 เขต พรรค "ก" จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะเกิน 100 คนตามโควต้าของ "มหาเขตเลือกตั้ง" ไปแล้ว
.
ดังนั้น การเลือกตั้งที่จะมาถึง เราต้องทิ้งความเคยชินเดิมๆไปให้หมดสิ้น ไม่มีอีกแล้ว..คะแนนเสียเปล่า เพราะทุกคะแนนมีความหมาย
.
ผลที่ตามมาอีกประการหนึ่งคือ ผู้เคยสมัครแบบบัญชีรายชื่อในระบบเดิม แต่ยังได้รับความนิยมมากในเขตเลือกตั้ง เพราะตนเป็น "เจ้าของพื้นที่" มานาน ก่อนหน้านี้ เคยมอบหมายให้ญาติหรือทีมงานลงสมัคร ส.ส.เขต ส่วนตนเองขึ้นไปสมัครในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ เพราะถ้าชนะเลือกตั้งมากเท่ากับได้มา 2 ที่นั่ง
.
แต่ในระบบใหม่ เราอาจได้เห็นคนดังเจ้าของพื้นที่จำนวนหนึ่ง กลับคืนสู่เขตเลือกตั้ง เพราะโอกาสได้รับเลือกตั้งสูงกว่าแบบบัญชีรายชื่อตามระบบใหม่ซึ่งมีตัวแปรเพิ่มขึ้นที่ทำนายได้ยาก แม้อยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ อาจไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้
.
นายกฯคนนอก
......................
ประเด็นร้อนแรงเฉพาะในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ คือ การสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน "นายกฯคนนอก"
.
เมื่ออ่านมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฯ 2560 พบว่า เส้นทางของนายกฯคนนอก นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด และอาจนำไปสู่ "สุญญากาศทางการเมือง"
.
ใน 5 ปีแรกนับจากวันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 (ถ้าสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบวาระ 4 ปี เวลา 5 ปีเท่ากับวาระของสภาผู้แทนฯอย่างน้อย 2 ชุด) การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องทำในรัฐสภาที่มีสมาชิกรัฐสภา 750 คน (ส.ส. 500 คน และ ส.ว.250 คน)
.
นายกฯต้องได้รับความเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียง ถ้าไม่มีใครได้คะแนนถึง จะเดินสู่ขั้นต่อไปคือ
.
สมาชิกฯอย่างน้อย 375 คนเสนอประธานรัฐสภา เพื่อขอให้จัดประชุมรัฐสภาพิจารณา "เปิดทาง" ให้เลือกนายกฯคนนอก
.
นายกฯคนนอกจะเข้ามาได้ต้องได้รับความเห็นชอบ "เปิดทาง"จากสมาชิกรัฐสภาอย่างน้อย 500 คน
.
หากทางสะดวกแล้ว คนนอกสามารถเข้ามาเป็นตัวเลือกแข่งกับตัวแทนของพรรคการเมืองใหญ่ได้ หากมีผู้ใดได้รับคะแนน 376 เสียงขึ้นไป ถือว่าได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี
.
ดังนั้น หาก ส.ส.หรือ ส.ว.อย่างน้อย 251 คนขึ้นไปไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก ประตู"นายกฯคนนอก" จะล็อคกุญแจแน่นหนา ใครก็เข้าไม่ได้
.
เมื่อนายกฯคนนอกเข้าไม่ได้ สมาชิกรัฐสภาจะกลับมาทบทวน เลือกนายกฯคนในอีกครั้งได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญฯไม่ได้บัญญัติไว้ หรือหากกลับมาเลือกใหม่ได้ แต่ก็ยังไม่มีใครได้ถึง 376 เสียง คราวนี้แหละ สุญญากาศทางการเมืองอาจเกิดขึ้น เพราะไม่รู้ว่า จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
.
ถึงเวลานั้น มาคอยดูกันว่า ส.ส.จะช่วยกันผ่าทางตัน รวมเสียงกันให้ครบ 376 เสียง เลือกนายกฯคนในเสียที หรือจะให้ รัฐบาล คสช.บริหารประเทศไปพลางๆก่อน หรือจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งกันใหม่
.
โดยสรุป ถ้าพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนนายกฯคนนอกอย่างแน่วแน่ (ซึ่งอาจมีหลายพรรค) ได้รับเลือกตั้งมารวมกันอย่างน้อย 251 คน ประตู "นายกฯคนนอก" จะถูกลั่นดาล ปิดไปตลอดกาล
.
การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์
................................................
การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Voting - SV) เป็นคำศัพท์การเลือกตั้งที่จะถูกพูดถึงมากในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ทันไร ก็มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาถกกันอย่างกว้างขวาง เพราะมีพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่มาเป็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งในสมการการเมือง จนบางคนต้องตัดสินใจว่า จะเลือกพรรคเดิมที่ชอบ หรือ เลือกพรรคใหม่ที่ใช่ เลือกแบบไหนจะสกัดนายกฯคนนอกได้ เลือกแบบไหนจะแสดงเจตจำนงประชาธิปไตย
.
SV เป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันมานานแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีตัวอย่างรูปธรรมมากมาย จนถึงกับมีผู้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า กลยุทธ์เช่นนี้ใช้ในสถานการณ์แบบไหน ได้ผลจริงหรือไม่
.
กลยุทธ์นี้ ใช้ได้ทั้งในยุทธศาสตร์สร้างความหวัง (Hope) เช่น 'เปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่า' และยุทธศาสตร์สร้างความกลัว (Fear) เช่น 'ไม่เลือกเรา เขามาแน่' แต่การสร้างความกลัว เชื่อกันว่า ได้ผลมากกว่า
.
SV มักถูกใช้ในสถานการณ์ต่อไปนี้
.
1.การเลือกตั้งนั้นเป็นแบบผู้ชนะกินรวบ (Winner-takes-all) คะแนนที่ไปเลือกตั้งผู้แพ้ ไม่มีความหมาย ไม่ถูกเอามาคิดคำนวณผลเลือกตั้ง
2.มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากกว่า 2 ราย และคู่แข่งขันอย่างน้อย 2 รายมีเสียงสนับสนุนใกล้เคียงกัน
3.ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องตัดสินใจว่า จะเลือกผู้สมัครที่ตนชอบมากที่สุด ซึ่งอยู่ลำดับที่ 3 หรือยอมตัดใจเลือกผู้สมัครที่ตนชอบน้อยกว่า เพื่อสกัดกั้นผู้สมัครที่ตนไม่ชอบเลย
.
จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า ในการเลือกตั้งแบบผู้ชนะกินรวบ มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ตกอยู่ในสถานการณ์ตามข้อ 2 และ 3 เพียง 20% (เพราะผู้เลือกตั้งที่สนับสนุนผู้สมัครที่กำลังแข่งขันอย่างคู่คี่ ไม่ต้องตัดสินใจเลือก แต่ลงคะแนนให้คนที่ตนสนับสนุนไปเลย)
.
และการวิจัยพบต่อไปอีกว่า ผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มีเพียง 20% ที่เมื่อไปลงคะแนนเสียงแล้วตัดใจเลือกตามกลยุทธ์ SV
.
การวิจัยชิ้นนั้น จึงสรุปว่า กลยุทธ์ SV ไม่ได้มีอิทธิพลมากอย่างที่เราเข้าใจกัน
.
เมื่อหันมาพิจารณา การเลือกตั้งครั้งหน้าที่เรารอคอยกันอยู่ ในภาพใหญ่ทั้งประเทศสถานการณ์ทั้ง 3 ข้อไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเป็นการเลือกตั้งแบบผู้ชนะกินแบ่ง ทุกคะแนนของผู้แพ้มีความหมาย สามารถสะสมมาใช้คำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อีกทั้ง พรรคลำดับที่ 1 และ 2 ก็มีคะแนนนิยมทิ้งห่างกันพอสมควร แต่ในระดับเขตเลือกตั้งบางพื้นที่ สถานการณ์ข้อ 2 และ 3 อาจมีผลอยู่บ้างเหมือนกัน
.........................................
อย่างไรก็ตาม คณิตศาสตร์การเลือกตั้งก็ดี นายกฯคนนอกก็ดี การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ก็ดี จะไม่มีความหมายใดๆเลย...ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง
.
ดังนั้น มาช่วยกันคิดก่อนดีกว่าว่า ทำอย่างไร การเลือกตั้งจึงจะมาถึงในเร็ววัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น