วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

"ชัชชาติ" แนะอ่าน AI Super-Powers เข้าใจปัจจัยของการอยู่รอดในอนาคต ของประเทศไทย

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


ผมเพิ่งอ่านหนังสือ AI Superpowers ที่เขียนโดย Dr.Kai-Fu Lee จบ ด้วยความรู้สึกที่หนักอื้งในใจว่า แล้วอนาคตของเราจะแข่งขันกับโลกอย่างไร

Dr. Kai-Fu Lee เป็นคนไต้หวันที่ไปเรียนหนังสือที่อเมริกาตั้งแต่อายุ 11 ปี เรียนจบปริญญาเอกด้าน AI (Artificial Intelligence) จากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เคยทำงานที่ Apple, SGI, Microsoft เป็นประธานบริษัท Google China และ ปัจจุบันเป็นประธานและ CEO ของ Sinovation Ventures บริษัทลงทุนที่เน้นการพัฒนาบริษัทเทคโนโลยีแห่งอนาคตของจีน น่าจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้าน AI ลำดับต้นๆของจีน

Dr. Kai-Fu Lee อธิบายถึง AI ในประเด็นสำคัญดังนี้

- การพัฒนา AI ว่าในปัจจุบันได้ผ่านขั้นตอนวิจัยที่ยากและเป็นนามธรรม (Abstract) ไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการที่ผู้ประกอบการต้องนำ Algorithms มาปรับใช้กับธุรกิจ (ในอเมริกาและจีน 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ในยุค AI: Google, Facebook, Amazon, Microsoft, Baidu, Alibaba และ Tencent ได้เดินหน้าใช้ AI กันอย่างเต็มตัวแล้ว)

- เปลี่ยนจาก The Age of Discovery มาเป็น The Age of Implementation คือ เปลี่ยนจากยุคของการค้นคว้าวิจัย มาเป็น ยุคแห่งการประยุกต์ใช้และลงมือทำ (ทำให้ต้องการ AI Engineer มากขึ้น)

- เปลี่ยนจาก The Age of Expertise มาเป็น The Age of Data คือเปลี่ยนจากยุคของผู้เชี่ยวชาญมาสู่ยุคของ Big Data (ทำให้ข้อมูลมีความสำคัญมาก)

- ปัจจัยของความสำเร็จของ AI มีสามอย่างคือ
1) Big Data
2) พลังในการคำนวณ (Computing Power)
3) AI Algorithm Engineer

- อเมริกาและจีน จะแข่งขันกันในการเป็นผู้นำด้าน AI ของโลก โดยจีนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการกำหนดนโยบายอย่างจริงจังจากทางรัฐบาลและภาคเอกชนมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมาก

- เนื่องจาก AI ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก ดังนั้นการพัฒนาในระยะยาวจะนำไปสู่รูปแบบของการผูกขาด (Monopoly) เพราะยิ่งมีข้อมูลมากยิ่งแข็งแกร่งยิ่งขยายข้อมูลได้มากอีก ทำให้ผู้เล่นรายใหม่แข่งขันได้ยาก มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 AI จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจโลกถึง 15.7 ล้านล้านเหรียญ แต่ 70% ของมูลค่านี้ จะตกไปอยู่กับจีนและอเมริกา ประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง จุดแข็งเดิมเรื่องแรงงานราคาถูกจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรฉลาดที่ขับเคลื่อนด้วย AI

- ในอนาคต AI จะทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น งานในสำนักงานจะถูกทดแทนด้วย Algorithm ของ AI รวดเร็วกว่าแรงงานในโรงงานที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ เพราะ AIgorithm ที่จะทำบัญชี คำนวณภาษี วิเคราะห์กฎหมาย ด้วย AI นั้นมีอยู่แล้วและสามารถส่งให้คนใช้ทั่วโลกได้ในทันทีผ่าน Internet โดยไม่เสียค่าส่ง ในขณะที่หุ่นยนต์ต้องใช้เวลาในการผลิต การค้นคว้า โดยเฉพาะกับงานที่มีความละเอียดและไม่แน่นอน เช่นการดูแลคนป่วย การซื้อ จัดส่ง ทดลองใช้ ทำได้ยากกว่า

อ่านที่ Dr.Kai-Fu Lee อธิบายแล้ว จะเห็นว่า บ้านเรายังขาดปัจจัยสำคัญในการนำ AI ไปประยุกต์ใช้สองส่วนคือคือ Big Data กับ AI Algorithm Engineer รวมไปถึงแนวนโบายที่ชัดเจนในการพัฒนา AI ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมตัวสำหรับอนาคต

มีเรื่องนึงที่ Dr.Kai-Fu Lee ได้เขียนไว้ถึงโลกของ "OMO" หรือ Online-Merge-Offline โดยได้อธิบายว่า AI ทำให้การเชื่อมโยงระหว่าง Online กับ Offline ไร้รอยต่อ ผ่านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์มือถือต่างๆ

เรื่องนี้ทำให้ผมวาบความคิดนึงขึ้นมาคือ จริงๆแล้ว ชีวิตเรายังขาดของ Offline ไม่ได้ ของส่วนใหญ่ที่เราใช้งาน หรือ จ่ายเงินซื้อมานั้น มันอยู่ในรูปแบบ Offline หรือ เป็น Analog เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า การเดินทาง ที่อยู่อาศัย หรือ ปัจจัยสี่ทั้งหมด ส่วนระบบ Online หรือ Digital นั้น ส่วนใหญ่คือการปรับปรุงขบวนการผลิตของ Offline ให้ดีขึ้น หรือ ช่วยในการค้นหาของที่เราจะบริโภค Offline เช่น การใช้ App หาร้านและสั่งก๋วยเตี๋ยวหมูมาทาน การกินก๋วยเตี๋ยวหมูเป็น Offline แต่การหาและสั่งเป็น Online ถ้าไม่มีคนทำก๋วยเตี๋ยวหมู ระบบ Online ก็ไม่มีความหมาย

ผมคิดว่าปัจจัยของการอยู่รอดในอนาคต ของประเทศไทย อาจจะไม่ใช่การไปผลิต AI หรือ หุ่นยนต์ แข่งกับจีนหรืออเมริกา (ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้) แต่เราควร เน้นจุดแข็งของเราที่เป็นส่วน Offline โดยใช้ระบบ Online หรือ เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนาสินค้า Offline หรือ ตัว Product ให้ดีขึ้น มีความแตกต่างมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดแข็งของบ้านเรา เราต้องเอาเทคโนโลยีต่างๆมาปรับปรุง Supply Chain ของการท่องเที่ยวให้มีความสะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว เอา AI มาช่วยในการวิเคราะห์ตลาด หาลูกค้า เอาระบบ Online มาพัฒนาสินค้า Offline ให้เข้มแข็งขึ้น

หนังสือเล่มนี้ดีครับ ช่วยให้เราเข้าใจอนาคตได้ดีขึ้น มีโอกาสลองหามาอ่านกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น