วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

"ชยิกา" ติงรัฐบาลประยุทธ์ โจมตียิ่งลักษณ์ ไม่ช่วยให้ตัวเองดูดี

"ชยิกา" ติง รบ.ประยุทธ์ โจมตียิ่งลักษณ์ ไม่ช่วยให้ตัวเองดูดี “แนะ” ใช้เวลาว่างพัฒนาความคิด ชี้จัดงบฯ สนใจแต่ความมั่นคงทางทหาร เมินความมั่นคงชาวบ้าน


นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ อดีตประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการพาดพิงถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยโพสต์เฟสบุ๊กระบุว่า ตลอดเวลา5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์ กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ “เพิ่มสูงขึ้น” เกือบทุกปี

• พ.ศ. 2558 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 250,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2559 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 390,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2560 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 550,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2561 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 550,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2562 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 450,000 ล้านบาท
• และในปี พ.ศ. 2563 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 469,000 ล้านบาท
น่าตกใจ! ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะสร้างตัวเลขกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ สูงมากกว่า 2.659 ล้านล้านบาท

ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาถูกกล่าวหาจากรัฐบาลประยุทธ์ต่างๆ นาๆ นั้น เมื่อพิจารณารายละเอียดการจัดทำงบประมาณ กลับพบตัวเลขที่ชัดเจนว่า ตลอด 3 ปีที่บริหารประเทศ มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ “ลดน้อยลง” ทุกปีๆ และจำนวนรวมก็น้อยกว่าอย่างชัดเจนด้วย

• พ.ศ. 2555 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 400,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2556 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 300,000 ล้านบาท
• พ.ศ. 2557 กู้ชดเชยงบขาดดุลฯ เป็นจำนวน 250,000 ล้านบาท
และภาพรวมตลอด 3 ปี ไม่เพียงตัวเลข “ลดน้อยลง” อย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น แต่ตัวเลขโดยรวม ก็เพียง 950,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญมากกว่าตัวเลขการขาดดุลมากน้อย แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ และใช้เม็ดเงินงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการที่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจริงๆ

ถ้ายกอคติในใจออกไป และมองด้วยใจเป็นกลาง จะเห็นความแตกต่างของการใช้งบประมาณของ 2 รัฐบาล อย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลยิ่งลักษณ์จัดทำงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในนโยบายที่ก่อให้ “ประชาชน” เกิดรายได้ก่อน เพราะเมื่อประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอย ประเทศก็มีรายได้เพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณเพื่อสร้างโอกาสให้ชาวนาผู้มีรายได้น้อย ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปสู่ประเป๋าของชาวนาโดยตรง ให้ครอบครัวชาวนาราว 15 ล้านคนของประเทศได้มีกำลังจับจ่ายใช้สอย ร้านค้าขายของได้ เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น สังเกตได้จากตัวเลขเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ที่น้อยลงทุกปี เพราะประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะที่รัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งกู้เงินชดเชยงบขาดดุลมากขึ้นเกือบทุกปี ตัวเลขข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลประยุทธ์หารายได้เข้าประเทศไม่พอกับรายจ่ายของประเทศ เมื่อประชาชนจนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรที่รัฐบาลประยุทธ์ละเลย ปล่อยให้ชาวบ้านทำมาหากินตามยถากรรม รัฐบาลจัดทำงบประมาณให้ความสำคัญกับด้านความมั่นคงในมิติทางทหารมากกว่าการคำนึงถึงความมั่นคงของประชาชน จึงเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ส่งผลให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า สังเกตได้จากการจัดสรรงบประมาณไปใช้กับกระทรวงกลาโหมในการซื้ออาวุธ ซึ่งมาจากต่างประเทศ เป็นงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และยังทำให้เม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ

ดังนั้นก่อนที่จะมีการนำตัวเลขงบประมาณมาเปรียบเทียบและแปรความตัวเลขโดยขาดความเข้าใจในเศรษฐกิจภาพรวม เพียงเพื่อตีกิน โจมตีคนอื่นเพื่อให้รัฐบาลของพวกตัวเองดูดี ก็อยากให้รัฐบาลประยุทธ์ได้ช่วยพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบด้วยว่า การพยายามเหยียบหัวคนอื่นเพื่อให้ตัวเองดูดี ดูสูงขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้ตัวเองดูดีในสายตาประชาชนเลย และควรใช้เวลาที่คิดแต่จะโจมตีคนอื่น ไปพัฒนาตัวเอง เอาเวลาไปคิด-ทำนโยบายหรือใช้เวลากับการหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ประชาชนบ้าง ก็อาจจะมีประโยชน์กับตัวเองและสังคมมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น