วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เครือข่ายการเมือง ตั้ง "ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย"

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้


“รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยคือเป้าหมาย ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน”

วันนี้หน่อยมาร่วมประชุมการจัดตั้ง #ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดยมีรองศาตราจารย์โคทม อารียา ผู้ช่วยศาตราจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ และอาจารย์ ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช เป็นแกนกลาง และองค์กรประชาธิปไตยอีกหลายองค์กร ได้แก่

-มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต)
-คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
-สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ,คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
-คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน
-มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
-มูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์
-มูลนิธิเพื่อความยั่งยืน
-ตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
-พรรคอนาคตใหม่ โดย พล.ท.พงศกร รอดชมภู
-จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมือง
-นิกร จำนง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
-สมชัย ศรีสุทธิยากร ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

วันนี้พวกเราได้ประชุมร่วมกันนัดแรก มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการ #แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมีมติเลือกคุณ #โคทมอารียา เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ และมีมติที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยุติความขัดแย้ง และเกิดกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งค่ะ

สาระสำคัญที่ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ได้เสนอเป็นประเด็นหลักนอกเหนือจากการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการจัดตั้ง #สภาถกแถลงแห่งชาติ เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยึดหลักการว่า #รัฐธรรมนูญต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดกว้าง เพื่อทำให้เนื้อหาเป็นประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โดยสภาฯ ดังกล่าวจะมีที่มาจากตัวแทนประชาชนผ่านการสรรหากันเองและให้สภาผู้แทนราษฏรคัดเลือก จังหวัดละ 1 คน และให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนองค์กรประชาธิปไตย รวมถึงตัวแทนจาก ส.ส. และ ส.ว. โดยข้อเสนอดังกล่าวจะนำเสนอต่อสภาเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในอนาคตต่อไปค่ะ
ขณะที่ #ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จะเป็นองค์กรที่ทำงานประสานกับองค์กรประชาธิปไตยจากภาคส่วนต่างๆ

สำหรับ #เหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เราเห็นพ้องต้องกันว่า #รัฐธรรมนูญฉบับปี2560 ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้น และยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลางนั้น ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกิด #รัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ซึ่งในการแก้ปัญหาต้องอาศัย #กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุด มาเป็นเครื่องมือ #สร้างการเรียนรู้สำนึกความเป็นพลเมือง ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าจะมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศชาติ ด้วยพลัง “ความรู้-ความรัก-ความสามัคคี”

โดยมีแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคีฯ ที่ยึดหลักการ 4 ข้อ ดังนี้ค่ะ

#หลักการที่หนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วน และเปิดกว้างให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเต็มที่

#หลักการที่สอง ต้องทำให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง และยุติการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

#หลักการที่สาม ต้องทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันในสังคมเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์

#หลักการที่สี่ ต้องทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงขึ้นพร้อมขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศทางด้านต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้ ถกแถลงและปรึกษาหารือกันเพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและประเทศดีขึ้น

สัปดาห์หน้าภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จะเริ่มต้นเดินหน้าภารกิจค่ะ โดยจะเดินทางไปพบกับท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อเสนอโครงสร้างในการเปิดพื้นที่สร้างการรับรู้สู่ประชาชน โดยใช้ชื่อว่า #เวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน และจะเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดช่องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ และจากนั้นจะเดินสายไปพบพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มุ่งหมายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และทำให้ปัญหาปากท้องของประขาชนให้ดีขึ้นได้

ภารกิจของภาคีที่หน่อยมาร่วมในวันนี้ เป็นเพียงก้าวแรกค่ะ และยังจะมีก้าวที่สำคัญต่อๆไป ระหว่างทางอาจมีอุปสรรคและปัญหาให้เราต้องฝ่าฟัน แต่เพื่อเป้าหมายและอนาคตที่ยั่งยืน

หน่อยขอชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านมาร่วมกันเป็นภาคีที่จะก้าวย่างไปพร้อมกัน สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านคอมเม้นท์ด้านล่างได้ค่ะ เพื่อที่จะประมวลเป็นความเห็นเบื้องต้นในการกำหนดทิศทางเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เป็นเป้าหมายร่วมกันนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น