วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

"ประชาชาติ" เยี่ยมศูนย์กักตัว โรงเรียนปอเนาะ ดรุณศาสน์ฯ ปัตตานี

ส.ส.พรรคประชาชาติ เยี่ยมศูนย์กักตัวที่ ร.ร.ดรุณศาสน์ฯ ปัตตานี ปอเนาะแห่งแรกที่ใช้เป็นศูนย์กักตัว แนะปอเนาะช่วยกันรับ เพราะมีผู้จะเดินทางกลับจากมาเลเซียอีกจำนวนมาก 



วันนี้ (23 เมาายน 2563) เวลา 11.00 น. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติ ประกอบด้วยนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคประชาชาติ เยี่ยมศูนย์กักตัว หรือศูนย์สังเกตอาการ ที่โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซีย


นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ กล่าวว่า ในฐานะ ส.ส.ปัตตานีเขต 4 อำเภอยะรัง, มายอ และทุ่งยางแดง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดมากกว่าพื้นที่อื่นๆในจังหวัดปัตตานี  ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนสถานที่กักตัวของผู้ที่มีความเสี่ยง จึงได้เดินทางมาเยี่ยมโรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา ที่อำเภอสายบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา หรือปอเนาะแห่งแรกที่ได้ใช้เป็นศูนย์กักตัว รองรับการเดินทางกลับประเทศของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ทยอยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซีย จากที่ได้ไปเยี่ยมศูนย์กักตัวในอำเภอต่างๆ เมื่อเทียบกับศูนย์กักตัวที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนี้แล้ว เห็นว่ามีสถานที่กว้างขวางและมีความพร้อมที่จะรองรับผู้มีความเสี่ยงได้มากถึง 300 คน และน่าภาคภูมิใจที่สถาบันศาสนามีส่วนร่วม ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีโรงเรียนปอเนาะอื่นๆสมัครใจให้ใช้เป็นสถานที่กักตัวด้วย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ เพราะศูนย์กักตัวคือสถานที่ที่เฝ้าสังเกตอาการเท่านั้น ผมมั่นใจว่าที่นี่มีความปลอดภัย และขอสื่อสารไปยังประชาชนในบริเวณใกล้เคียงว่าขอให้สบายใจได้ ว่าเชื้อโรคจะไม่แพร่ระบาด ออกไปสู่ชุมชนข้างนอก เพราะที่ศูนย์กักตัวทุกแห่งไม่มีผู้ป่วย แต่เป็นสถานที่สังเกตอาการเท่านั้น หากมีผู้ป่วยจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที


นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระบวนการป้องกันการแพร่เชื้อจากพี่น้องที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซียที่ดีที่สุด คือการกักตัว 14 วัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะหาสถานที่กักตัวให้เพียงพอได้นั้นยากลำบาก การที่โรงเรียนปอเนาะเปิดเป็นศูนย์กักตัว โดยเฉพาะโรงเรียนดรุณศาสน์แห่งนี้เป็นแห่งแรกนั้น มีผู้กักตัวมากถึง 82 คน และรองรับได้สูงสุด 300 คน เป็นจำนวนที่ผมรู้สึกอึ้ง แสดงถึงความพร้อมสูงมาก เพราะเท่าที่ได้ไปเยี่ยมศูนย์กักตัวหลายจุดในจังหวัดนราธิวาสนั้น ส่วนมากรับได้ประมาณ 15-20 คน แต่การทำความเข้าใจกับผู้บริหารและชุมชนใกล้เคียงนั้นสำคัญมาก เราอย่ามองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ติดเชื้อ ต้องชื่นชมเขามากกว่าที่กักตัว 14 วัน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

นายกมลศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพี่น้องประชาชนที่ติดค้างอยู่ในมาเลเซียก็เข้าใจว่าต้องการเดินทางกลับ แต่ติดขัดกับเงื่อนไขบางอย่างของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการขอเอกสารต่างๆ และการคุมเข้มของมาเลเซีย เรากำลังสะท้อนให้ฝ่ายรัฐบาลแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่


นายนิมุคตาร์ วาบา ผู้บริหารโรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา กล่าวว่า โรงเรียนของเราตั้งอยู่ห่างจากชุมชน และต้องทำความเข้าใจกับชุมชนด้วยว่าผู้ที่ถูกกักตัวนั้นไม่ใช่ผู้ป่วย ตามหลักการศาสนาอิสลามแล้วเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น มนุษย์ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน และการกักตัวตามมาตรการของสาธารณสุขนั้นก็สอดรับกับหลักการศาสนาอิสลาม ดังพระวจนะ (ฮะดิษ) ของนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.) เมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดของอหิตกโรคในสมัยท่านนบีนั้น ท่านบอกว่าคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า และต้องแยกผู้ป่วยออกไปรักษา ดังนั้นเมื่อพี่น้องของเราเดินทางกลับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราก็ควรให้โอกาสได้พักพิง หากโรงเรียนสอนศาสนาอื่นๆที่สถานที่เอื้ออำนวย คือไม่มีบาบอ (ครูสอนศาสนา) อาศัยอยู่ หากมีความพร้อมก็ควรให้ใช้สถานที่ เพราะยังมีพี่น้องที่จะเดินทางกลับจากมาเลเซียอีกเป็นจำนวนมาก เราต้องช่วยกัน


นายสมปอง มั่นคง ปลัดเทศบาลเมืองตะลุบัน ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองตะลุบัน กล่าวว่า ศูนย์กักตัวที่โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา ทยอยรับผู้คนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 63 ปัจจุบันมีจำนวนผู้ถูกกักตัว 82 คน กลับบ้านได้แล้ว 16 คน ยอมรับว่าผู้ถูกกักตัวมีความเครียด เพราะเดินทางกลับมาแล้วก็อยากเจอครอบครัว แต่สถานที่แห่งนี้กว้างขวาง สามารถผ่อนคลายได้ ไม่แออัด และสนับสนุนอาหารให้วันละ 3 มื้อ มีนักจิตวิทยาสร้างความผ่อนคลาย และญาติสามารถมาเยี่ยมในระยะห่างได้

#พรรคประชาชาติ
#PrachachatParty
#โควิด19

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น