วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"ทวี" ติงรัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.หอการค้า เพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม

"พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง" ตั้งข้อสังเกต รัฐบาลเสนอ ร่าง พ.ร.บ.หอการค้า อาจยิ่งเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 วาระที่รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.หอการค้า โดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ตั้งข้อสังเกตฝากประเด็นให้คณะกรรมาธิการวิสามัญ ช่วยแก้ไขให้สร้างความสมดุลย์ที่เกิดประโยชน์ต่อปวงชน และไม่ตอกย้ำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนมากยึ่งขึ้น 

“เราจะเห็นว่ากลุ่มรายชื่อกรรมการที่มาอยู่ในหอการค้าจะเป็นบริษัทหรือคนมีฐานะร่ำรวยในระดับต้นๆของประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่ากฎหมายลักษณะนี้สร้างความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น มีผลประโยชน์จากสถานะผู้นำองค์กรได้สิทธิบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ได้กล่าวถึงในกฏหมายนี้ เช่นมีกฎหมายหลายฉบับที่ให้เข้าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น กฎหมายพัฒนาใหญ่ๆ จะใช้ช่องทางของประธานหอการค้า ประธานอุตสาหกรรม เข้าไปเป็นกรรมการ อาทิ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี จะเห็นว่า ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานอุตสาหกรรม ได้เข้าเป็นกรรมการ ในขณะที่ประชาชนพลเมืองในพื่นที่3 จังหวัดของภาคตะวันออก(ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) ไม่มีใครได้เป็นกรรมการเลย ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมา ไม่มีใครได้กำหนดชะตาชีวิตการพัฒนาในพื้นที่ของตนเองเลย แต่ประธานหอการค้าไทยหรือประธานอุตสาหกรรมจะมีโอกาสเข้าไปกำกับดูแล และต้องยอมรับว่าเมื่อมีการพัฒนาจะต้องมีการนำทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรที่เป็นทุนชีวิตของประชาชนถูกนำไปประเคนให้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ แทนที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น”

“ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำจนต้องยอมรับว่ามีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากยิ่งขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เข้ามาเป็นกรรมการจะเป็นลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งตนเองก็มีบริษัทอยู่เบื้องหลัง ได้รู้เห็นงบประมาณในการพัฒนา และทรัพยากรที่นำไปสู่การพัฒนา แล้วก็นำบริษัทของตนเองเข้าไปได้ประโยชน์ เราจะเห็นได้ว่าโรงงานอุตสาหกรรม เช่นโรงงานน้ำตาล จาก อ้อย คนกลุ่มนี้จะแฝงตัวเข้ามาในบทบาทของสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมด้วย”

“อีกประการหนึ่งในร่าง พรบ น่าตกใจมาก ในการแก้ให้หอการค้าออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เรื่องนี้สำคัญมาก Free Trade Agreement (FTA) ถ้ามีของผลิตในเมืองไทยประมาณ 40% ประเทศคู่ค้าเราก็ไม่ต้องเสียภาษี ทำไมไม่ให้กรมการค้าต่างประเทศหรือราชการ เป็นผู้รับรอง เพราะหากให้คนกลุ่มนี้มารับรองทางการค้า พวกเขาไม่ได้เป็นผู้มีวิชาชีพ แต่มีอาชีพ วิชาชีพหมายถึงการมีศีลธรรมจรรยาเข้าไปกำกับ ส่วนอาชีพจะมีกำไร กำไร กำไร จึงขอตั้งข้อสังเกตต่อคณะกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้น กฎหมายลักษณะนี้จะเป็นกฎหมายที่จะทำให้คนที่อยู่ระดับล่างไม่มีโอกาสได้เข้ามา จึงขอฝากไว้”

นอกจากนี้ พันตำรวจเอก ทวี กล่าวอีกว่า “พรรคประชาชาติเป็นพรรคเล็กที่มี ส.ส. จำนวน 6 คน เมื่อตั้งกรรมาธิการแล้วก็จะไม่ได้เป็นกรรมาธิการ ความจริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ เมื่อเป็นปัญหาของประเทศน่าจะเปิดโอกาสให้มีกรรมาธิการมากกว่า 25 คน”












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น