วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ : เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy)

ดร.ประเสริฐ พัฒนผลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (Instiutute of Democratization Studies : iDS) เผยแพร่ทัศนะต่อ เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) ผ่านแฟนเพจ https://www.facebook.com/IDS.inThailand/ โดยมีเนื้อหาดังนี้

เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) เป็นการแสวงหาจุดสมดุลและแก้ไขปัญหาของสองแนวทางหลักในระบบเศรษฐกิจ คือ “ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” ที่ไม่ก่อให้การแข่งขันอย่างเสรีหรือแข่งขันแล้วเกิดการผูกขาดความมั่งคั่งและทรัพยากรของทุนขนาดใหญ่ที่ได้เปรียบ จนรัฐจะต้องมีบทบาทเข้ามาแทรกแซง กับ “ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม” ที่จัดสวัสดิการดูแลประชาชน ถึงในระดับจนคนเฉื่อยชาไม่มีผลงานและไม่มีนวัตกรรม เพราะขาดเสรีภาพและแรงจูงใจในการถือครองทรัพย์สิน

เศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม จึงเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายคือ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและสวัสดิการทางสังคม สำหรับคนทุกกลุ่มในประเทศ ซึ่งจะต้องอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ

1. เสรีภาพ และ ความรับผิดชอบต่อสังคม

2. ความเป็นธรรมทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้รางวัลตอบแทนตามผลงาน ที่จะต้องมีเงื่อนไขพื้นฐานคือ ระบบกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป มีความเชื่อถือได้ และที่ชอบด้วยในระบบประชาธิปไตย 

โดยนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี ได้นำแนวทางดังกล่าวมาใช้ ที่สามารถจำแนกออกเป็นหลักในการปฏิบัติของผู้มีหน้าที่ในสังคมดังนี้

• ผู้ประกอบการ: เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่มีหน้าที่ต่อสาธารณชนและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสาธารณชน/สาธารณสมบัติ

• ปัจเจกบุคคล: ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง อยู่บนหลักของผลงาน (performance)

• รัฐ: จัดระบบกฏหมายที่เอื้อต่อการแข่งขัน การจัดสวัสดิการและระบบสนับสนุนช่วยเหลือให้ประชาชนดูแลตนเองได้ กระจายอำนาจในการแก้ปัญหาไปยังจุดย่อยที่สุด ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

ความสำเร็จของการนำแนวทางเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคมไปใช้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นทิศทางร่วมกันที่จะปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและมุ่งสู่ความมั่งคั่งยั่งยืนของคนในสังคม สำหรับประเทศไทยแล้วก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ตัวแบบเศรษฐกิจจากประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความเป็นธรรมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น