วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"เลขาธิการพรรคประชาชาติ" ชี้แจง ทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ’60 ?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

“กฎหมายเข้าชื่อ” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาก ‘สายลมประชาธิปไตยเปลี่ยนเป็นพายุประชาธิปไตย’

แม้’รัฐสภา’ เสียงข้างมากจะมีมติไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน 60 ของประชาชนที่ร่วมลงชื่อจำนวน 100,732 คน ที่เรียกว่า “กฎหมายเข้าชื่อ” เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 โดยมีตัวแทนประชาชน 3 ท่าน คืออาจารย์จอน อึ้งภากร คุณจีรนุช เปรมชัยพร และคุณยิ่งชีพ อัชณานนท์ นำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ด้วยบุคลิกภาพที่มีภาวะผู้นำเต็มเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบที่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย นำความหวังและเจตจำนงของประชาชนมอบให้รัฐสภาที่เปรียบเสมือน “สายลมแห่งประชาธิปไตย”ที่พัดเข้าสู่รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นจุดกำเนิดของกฎหมายด้วยข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชื่อย่อว่า "5 ยกเลิก 5 แก้ไข" และเปิดทางให้เกิดการ "ร่าง" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ

ยกเลิก 1 ช่องทางนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ยกเลิก 2 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เขียนขึ้น คิดแทนอนาคต กดทับรัฐบาลทุกชุด

ยกเลิก 3 แผนปฏิรูปประเทศ ที่ คสช. เขียนขึ้น

ยกเลิก 4 ท้องถิ่นพิเศษ ที่เปิดช่องผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

ยกเลิก 5 นิรโทษกรรม คสช. ที่ช่วยคนทำรัฐประหาร ทำอะไรไว้ไม่มีทางผิด

แก้ไข 1 แก้ระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เขียนให้ชัด นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

แก้ไข 2 เปลี่ยน ส.ว. ชุดพิเศษคนของเขา เป็น ส.ว. จากการเลือกตั้งของประชาชน

แก้ไข 3 เปลี่ยนที่มาองค์กรที่ไม่ทำงาน สร้างระบบสรรหาองค์กรอิสระแบบใหม่ ให้คนที่นั่งอยู่พ้นจากตำแหน่ง

แก้ไข 4 ปลดล็อกวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา ไม่ต้องมีอำนาจพิเศษของ ส.ว.

แก้ไข 5 ตั้ง สสร. ชุดใหม่จากการเลือกตั้งทั้งหมด เปิดทางสร้างการเมืองแบบใหม่ สังคมแบบใหม่

ตามกติการัฐธรรมนูญของประชาชนรวมกันจดทำขึ้น

ส่วนตัวในฐานะสมาชิกรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบ(เสียงข้างน้อย) ให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนในวาระที่ 1 เพื่อพิจารณาต่อไป

ทำไมต้องแก้ไข รธน. 60 ?

“คนยากจนจะรู้ถึงความลำบากเป็นอย่างไร

คนหิวจะรู้คุณค่าของอาหาร ข้าวทุกเมล็ดและน้ำทุกหยด

คนเจ็บป่วยจะรู้ถึงคุณค่าของสุขภาพดี

คนติดคุกจะรู้ถึงคุณค่าของอิสระภาพ

คนไม่มีสิทธิถึงความเป็นคน จะรู้คุณค่าของประชาธิปไตย”

ด้วยความเชื่อว่า ประเทศเป็นประชาธิปไตย จะเปิดโอกาสให้คนทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีสิทธิเสรีภาพในความเป็นคนเสมอกัน มีหลักประกันความปลอดภัย ไม่ให้มีการข่มเหงรังแกกัน ที่สำคัญมีสิทธิทางการเมืองที่เรียนว่าหนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิ หรือ 1 Men 1 Voted

ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่ยึดระบบคุณธรรมต่างกับระบอบเผด็จการมีมักใช้ระบบพวกพ้องหรือระบบอุปถัมภ์ การเปลี่ยนให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยจึงมีกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียวไม่เห็นด้วยเพราะเสียผลประโยชน์จากตำแหน่ง อำนาจ และโครงสร้างสังคมที่มีอยู่เดิมเห็นว่าหากปล่อยให้ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเสวยสุขต่อจากอำนาจ งบประมาณ ทรัพยากรและผลประโยชน์อื่น ที่ได้สร้างกลไกระบบกองทัพ ราชการรวมศูนย์ องค์กรอิสระ หน่วยงานความมั่นคงอื่น และในรูปกฎหมายเพื่อสืบทอดอำนาจการตีความกฎหมายก็อยู่ในอุ้งมือของคนกลุ่มน้อยจนกรายเป็นสมบัติส่วนตัวสร้างอิทธิพลและพวกพ้องเป็นช่องทางนำไปสู่การทุจริต คอรัปชั่น รวมถึงการผูกขาด การให้สัมปทาน โควต้า โดยไม่ต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม คนกลุ่มนี้แม้มีจำนวนน้อยแต่มีอำนาจมากจึงต่อต้านไม่ให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย

ข้อเสนอของประชาชนด้วยความหวังจะมีอนาคตที่ดี สร้างยุคสมัยที่คนต้องเท่ากับคน ด้วยการมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรี ความยุติธรรม และสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

การที่รัฐสภาเสียงข้างมากจาก ส.ว.แต่งตั้ง และจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม จะไม่สามารถหยุดความหวังและความฝันของประชาชนไปได้ แต่จะยิ่งเพิ่มพลังความมุ่งมั่นที่แกร่งกล้าด้วยความรู้และความจริงกระจายทั่วไปเต็มพื้นที่ของประเทศและทั่วโลก โดยไม่มีอำนาจใดหยุดพลังศรัทธาของประชาชนได้ ตามกฏธรรมชาติที่

"มนุษย์ไม่สามารถจะสู้กับกาลเวลา และสังคมไม่สามารถจะสู้กับยุคสมัย"

การไม่รับร่าง “กฎหมายเข้าชื่อ” ของประชาชนจึงเหมือนการทำให้’สายลมประชาธิปไตยเปลี่ยนเป็นพายุประชาธิปไตย’ ที่ไม่อาจหยุดประชาชนได้ เพราะโอกาส ความหวังจะการมีอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคมไทยได้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาอื่น

https://www.youtube.com/watch?v=i-2acrXe7M8&feature=youtu.be

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น