วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย-มูลนิธิคอนราดฯ" จัดเสวนา Local governance in 2020: experience from Germany

สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (iDS) และมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (KAS) ร่วมกันจัดการสัมมนา หัวข้อ “Local governance in 2020 : experience from Germany” โดยมี Dr. Céline-Agathe Caro Head of the KAS office in Thailand , นายจาตรุนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี , Mayor Prof.Dr. Eckart Würzner Mayor of the City of Heidelberg , ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา , ผศ.ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร , ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสื่อมวลชน และอาจารย์พองาม เหลี่ยมศิริวัฒนา วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นวิทยากร ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยที่ประชุมได้ชี้ให้เห็นปัญหาการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเองและประชาชนเสียโอกาส

ท้องถิ่นเข้มแข็ง คือกำลังสำคัญฝ่าวิกฤต

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า มาสังคมไทยมีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมานาน และได้ยินเรื่องการเรียกร้องเรื่องนี้มานานหลายสิบปี ซึ่งน่าแปลกใจมากที่ปัจจุบันนี้ก็ยังมีการเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอยู่ และที่สำคัญ 5-6 ปีที่ผ่านมาองค์กรปกครองท้องถิ่นของไทยถือว่าแทบจะไม่สามารถกำหนดอะไรเองได้เลย เพราะจะทุกอย่างจะถูกกำหนดมาจากรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นทำได้เพียงแต่สิ่งที่รัฐบาลสั่งมาเท่านั้น แม้บางท้องถิ่นอาจอยากแก้ไขปัญหาตัวเอง อยากส่งเสริมการศึกษาในท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพคนในท้องถิ่น แต่บางครั้งจะเห็นได้ว่าส่วนกลางกลับมีการสั่งให้ใช้งบประมาณไปอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ตอบสนองความต้องการหรือปัญหาแต่ละท้องถิ่นเลย เช่น บางครั้งสั่งให้ใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งๆที่ท้องถิ่นบางแห่งในพื้นที่อาจจะไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวเลย ขณะที่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกาหรือยุโรป และที่เยอรมัน ที่ได้ได้มีการแบ่งปันประสบการณ์กับเรานั้นจะเห็นได้ว่า ท้องถิ่นมีบทบาทมาก สามารถมีอำนาจตัดสินใจแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ 

"การกระจายอำนาจเป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤต ที่ต้องเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 หากท้องถิ่นเข้มแข็งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการผ่าวิกฤต เช่นเดียวกันหากเรายังปล่อยเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ประเทศก็จะเสียหายและเสียประโยชน์อย่างมากเช่นกัน"

ท้องถิ่นไทยถูกสกัดกั้นการเติบโต

ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า ปัญหาการเติบโตของท้องถิ่นไทยที่มีปัญหาอย่างมากในระยะหลัง เป็นเพราะการเมืองระดับท้องถิ่นของไทยมักจะถูกตัดตอนเป็นระยะๆ อยู่ตลอดเวลา จนทำให้ไม่สามารถเติบโตและเข้มแข็งได้ โดยเฉพาะที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ก็มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแช่แข็งองค์กรบริหารงานท้องถิ่นยาวนาน ทั้งๆ ที่การเมืองท้องถิ่นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติ แต่กลับเป็นกลุ่มหนึ่งที่โดนคำสั่งล็อกไว้ยาวนาน อีกทั้งเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้ว กลับยังไม่เร่งคลายล็อกให้กับท้องถิ่นจากคำสั่งที่คณะรัฐประหารสั่งล็อกเอาไว้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยควรที่จะต้องเริ่มต้นจากท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรก

การมีส่วนร่วมของพลเมืองท้องถิ่น คือกุญแจสำคัญ

ผศ.ชาญณวุฒ ไชยรักษา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เสนอว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรง คือจะต้องส่งเสริมให้พลเมืองท้องถิ่นที่มีความสนใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นให้มากที่สุด โดยเฉพาะการร่วมกันแก้ปัญหาต่างในท้องถิ่น ในส่วนที่องค์กรปกรองท้องถิ่นยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอ รวมทั้งส่งเสริมให้พลเมืองท้องถิ่นสนใจในปัญหาสาธารณะระดับชาติหรือระดับโลก ในมิติการตรวจสอบการบริหารงานของท้องถิ่นนั้น แม้การเมืองระดับท้องถิ่นจะแตกต่างกับการเมืองระดับชาติ ที่อาจจะมีกลุ่มต่างๆ รวมทั้งฝ่ายค้านติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอยู่เป็นตลอดเวลา แต่ในส่วนของท้องถิ่นอาจจะไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง แต่การตรวจสอบจะเกิดขึ้นในส่วนของภาคประชาชนในชุมชนท้องถิ่นเอง และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่และทุกเวลา เนื่องจากนักการเมืองท้องถิ่นกับพลเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ มีความใกล้ชิดกันมากและสามารถพบเจอกันได้ตลอดเวลา





































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น