วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"เรืองไกร" เร่งตรวจทุจริตโครงการรัฐ-ยื่นสอบงบขุดคลองยุคคสช.


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีที่เอกชนรายหนึ่งไปร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าไม่ได้รับเงินค่ารับงานจาก อผศ. ทั้งที่ได้ทำงานขุดลอกคลองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเอกชนรายดังกล่าวได้นำพยานหลักฐานมาให้ตนตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย และเมื่อตรวจสอบและซักถามแล้วจึงทราบว่า กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการกระทำในลักษณะทุจริตเงินแผ่นดินที่ชัดเจน กล่าวคือ หลังปฏิวัติไม่กี่วัน คสช. ก็อนุมัติสิทธิพิเศษให้ อผศ. ได้รับสิทธิรับงานขุดลอกคูคลองได้โดยวิธีกรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไขบังคับให้ อผศ. ต้องทำงานเอง ห้ามการจ้างช่วง แต่จากกรณีที่พบเป็นงานที่ อผศ. รับขุดลอกกุดชีเฒ่า และกุดเชียงสา ให้กับ ปภ. นั้น กลับมีการจ้างช่วงให้เอกชนรับงานต่อ ซึ่งเอกชนก็ทำงานจนแล้วเสร็จ โดยต้องวางหนังสือค้ำประกัน และถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% จากเงินบางส่วนที่ได้รับแล้ว แต่ส่วนที่เหลือ อผศ. ยังไม่มีการจ่าย จนเป็นเหตุให้เอกชนถูกประเมินภาษี และถูกธนาคารฟ้องร้องได้รับความเดือดร้อน และมาร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายเรืองไกร กล่าวว่า แต่จากหลักฐานที่ตรวจสอบแล้ว ทำให้เห็นกระบวนการทุจริตเงินแผ่นดินตามมาด้วย เนื่องจากเห็นได้ชัดเจนว่า อผศ. ทำบันทึกข้อตกลงในลักษณะแบบนิติกรรมอำพราง คือ มีการจ้างช่วงงานให้เอกชนรับขุดลอกคูคลองโดยมีเงื่อนไขการตรวจรับงานก่อนจ่ายเงิน จึงเข้าลักษณะการจ้างทำของที่มุ่งผลสำเร็จของงาน แต่กลับเลี่ยงไปทำนิติกรรมเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ แต่เอกชนผู้ให้เช่าทรัพย์กลับต้องทำงานตามแบบรูปที่เจ้าหน้าที่ ปภ. กำหนด อันเห็นได้ว่า อผศ. และ ปภ. รับรู้ว่า งานดังกล่าวเป็นการจ้างช่วงไม่ใช่การเช่า แต่ก็มีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หลักฐานสำเนาบันทึกข้อตกลง ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี และใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่พบนั้นบ่งบอกต่อไปว่า เอกชนรายนี้ไม่ใช่รายเดียวที่รับงานช่วงจาก อผศ. เพราะเมื่อพิจารณาจากเลขที่สัญญาก็ดี เลขที่ใบหักภาษี ณ ที่จ่ายก็ดี แสดงให้เห็นว่า ควรมีงานอื่นที่ทำในลักษณะเดียวกันอีกมาก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากสำเนาทะเบียนสัญญา หรือสำเนาใบหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมไปถึงสำเนารายงานภาษีซื้อ-ภาษีขายตามระบบภาษีมูลค่าเพิ่มของ อผศ. ด้วย

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า เมื่อนำรายการขุดลอกกุดชีเฒ่าที่จ้างช่วงในราคา 16,098,800 บาท และรายการขุดลอกกุดเชียงสาที่จ้างช่วงในราคา 14,278,600 บาท ไปเปรียบเทียบกับรายงานงบกลางปี 2558 จะพบว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นส่วนหนึ่งจากงบกลางตามแผนยุทธศาสตร์น้ำทั้งหมด 1,838 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 16,278,000,000 บาท โดยเป็นส่วนของ ปภ. จำนวน 1,457 รายการ จำนวนเงิน 5,213,027,500 บาท ซึ่งงานขุดลอกกุดเวียงสาอยู่ในรายการที่ 868 วงเงินงบประมาณ 16,000,000 บาท และงานขุดลอกกุดชีเฒ่าอยู่ในรายการที่ 972 วงเงินงบประมาณ 18,650,000 บาท อันทำให้เห็นกระบวนการตั้งเรื่องงบประมาณ หน่วยงานเจ้าของโครงการ หน่วยงานที่ได้รับสิทธิพิเศษ รับรู้กันมาก่อนแล้วเมื่อได้จัดสรรแบ่งวงเงินงบประมาณเสร็จ จึงนำงานไปจ้างช่วงโดยทำเป็นสัญญาเช่าที่สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในกรณีที่พบทั้ง 2 โครงการเกิดความแตกเมื่องานเสร็จแล้วไม่มีการจ่ายเงินให้เอกชน จนมาถูกร้องเรียน และมีข้อมูลที่ฟังมาว่า มีการยกเลิกสัญญาไปแล้ว และมีบุคคลอื่นมารับเงินที่เหลือไป ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะที่เคยเป็นข่าวเกี่ยวกับมีการจ่ายหัวคิวให้คนกลาง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับว่า เป็นกระบวนการทุจริตโกงเงินแผ่นดินที่ชัดเจนมาก จึงต้องนำเรื่องนี้ไปร้องยัง สตง. เพื่อตรวจสอบขยายผลตามแนวทางของพยานหลักฐานที่พบมาโดยเร็ว

นายเรืองไกร กล่าวทิ้งท้ายว่า ร่องรอยการทุจริตนี้เกิดขึ้นในไทยภายใต้การบริหารและรับผิดชอบของรัฐบาล คสช. แต่เมื่อมีหลักฐานที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ง่ายกว่ากรณีการบินไทย และเข้าข่ายการกระทำเป็นกระบวนการแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะอาจถือว่า ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ จึงหวังว่า สตง. จะทำงานตามอำนาจหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ดีกว่าหน่วยงานอื่น และต่อไปเมื่อมีประชาธิปไตยและมีตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งก็จะต้องมีการติดตามผลการตรวจสอบกันต่อไป แต่ในขณะนี้ต้องร้องให้ สตง. ทำงานตามอำนาจหน้าที่ไปก่อน โดยจะไปยื่นเรื่องร้องต่อผู้ว่า สตง. ที่สำนักงานถนนพระรามที่ 6 ในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 9.30 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น