วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"กิตติรัตน์" เปิดตัวเลขจำนำข้าว ยืนยันมีวินัยการคลัง-ช่วยระบบเศรษฐกิจ

“กิตติรัตน์” แจงบริหารเงินรับจำนำรอบคอบ ไม่เสียหาย เพราะผลประโยชน์เศรษฐกิจสูงกว่ายอดขาดทุนทางบัญชีและหนี้สาธารณะคุมได้


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ ไต่สวนพยานจำเลยคดีโครงการรับจำนำข้าว

วันนี้ฝ่ายจำเลยเตรียมพยานขึ้นไต่สวน  1 ปาก มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยนายกิตติรัตน์ได้กล่าวเบิกความสรุปว่าการที่มีการกล่าวหาว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 4 โครงการฯ ใช้เงินไปรวม878,389 ล้านบาทและผิดมติ ครม. เพราะใช้เงินเกินกว่า 500,000 ล้านบาทนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเพราะโครงการฯนี้ ครม.อนุมัติเป็นทีละโครงการฯ ครม.ไม่ได้อนุมัติเงินค่ารับจำนำข้าวเปลือก 5 แสนล้านบาท ให้ใช้กับทั้งโครงการ

โดยประเด็นเรื่องภาระคงค้างนั้น สรุปว่าการใช้เงินในแต่ละโครงการฯจะทยอยลดลงไปเรื่อยๆในการปิดบัญชีงวดถัดๆไปซึ่งมาจากการระบายข้าวและการได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยเงินต้นของโครงการ โดยภาระคงค้างเมื่อสิ้นงวดบัญชี อยู่ต่ำกว่า “กรอบวงเงินหมุนเวียน” ที่ ครม. กำหนดไว้ที่ 500,000 ล้านบาท

แต่คสช.และรัฐบาลปัจจุบันได้ทำการเลื่อนเวลาการปฏิบัติตามกรอบวงเงินหมุนเวียน 5 แสนล้านบาทออกไป 2 ครั้ง จนได้มีการรายงานต่อครม.เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2559 ว่า ภาระคงค้าง ณ 31 พ.ค. 2559 อยู่ที่ 498,767 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเพดาน “กรอบวงเงินหมุนเวียน” แล้ว

นายกิตติรัตน์เน้นย้ำต่อว่า “หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารงานอยู่ภาระคงค้างจะลดต่ำกว่ากรอบวงเงินหมุนเวียนถึง 5 แสนล้านบาทก่อนสิ้นปี 2557 ไปแล้วด้วยการระบายข้าวสารอย่างต่อเนื่องและการจัดงบประมาณชดเชยโครงการที่เหมาะสม ไม่ใช่ปิดโกดัง หยุดระบายข้าวไปเป็นเวลานานอย่างที่รัฐบาลนี้ปฏิบัติ”

ในส่วนของเรื่องหนี้สาธารณะนายกิตติรัตน์ชี้แจงว่า แหล่งเงินที่นำมาใช้คือเงินทุนของธกส.เองและเงินกู้ที่ธกส.กู้จากสถาบันการเงินโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันโดยส่วนนี้จะเป็นหนี้สาธารณะ แต่การใช้เงินทุน ธกส.เองจำนวน 90,000 ล้านบาทนั้นไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะซึ่งเป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกับเมื่อรัฐบาลอื่นๆ กำหนดให้ใช้เงินทุนของ ธกส.สำรองจ่ายแก่โครงการของรัฐบาล เทียบเคียงกับกรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์โครงการประกันรายได้เกษตรกร ใช้เงินทุน ธกส. เพื่อจ่ายเงินชดเชยราคาแล้วจึงจัดสรรงบประมาณในอนาคตมาชดเชยคืนให้ ธกส. ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย และขณะเดียวกันรัฐบาลปัจจุบันก็มีโครงการช่วยค่าต้นทุนการผลิตแก่ชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท ที่กำหนดให้ ธกส. ใช้เงินทุนจ่ายเงินอุดหนุนแก่ชาวนาไปก่อน แล้วจึงจะจัดงบประมาณมาชดเชยคืนให้ในภายหลัง โดยไม่ได้ถูกบันทึกเป็นหนี้สาธารณะเช่นเดียวกัน

โดยโครงการฯมีการควบคุมขนาดของโครงการคือตามปริมาณและจำนวนเงินที่ครม.มีมติเห็นชอบและกำหนดเพดานกรอบวงเงินหมุนเวียนเพื่อเป็นควบคุมยอดภาระคงค้างที่ 5 แสนล้านบาทของทุกโครงการอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มความใส่ใจที่จะระบายข้าวแล้วนำเงินที่ได้จากการระบายส่งคืนแหล่งเงินของ ธกส.และเรื่องของการติดตามจัดสรรงบประมาณชดเชยโครงการให้เหมาะสม

นายกิตติรัตน์ย้ำว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใส่ใจในการบริหารการเงินการคลังเป็นอย่างยิ่ง โดยยึดหลักกรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดยกำหนดไว้ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต้องไม่เกินร้อยละ 60 และสัดส่วนภาระหนี้ ต่องบประมาณต้องไม่เกินร้อยละ 15

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า“รัฐบาลมีหน้าที่บริหารหนี้สาธารณะของประเทศแบบองค์รวม คือบริหารจัดการให้ยอดรวมอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับ GDP  โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP และสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นต่ำกว่าเพดานที่กรอบความยั่งยืนทางการคลังกำหนดใช้เป็นอันมากโดยไม่มีสัญญาณของความเสี่ยงใดๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้รัฐบาลปัจจุบันต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นอันมาก ก็ยังยืนยันความมีวินัยการเงินการคลัง”

นอกจากนี้ยังได้ เปรียบเทียบการบริหารงบประมาณรายจ่ายกับรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลประยุทธ์ว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์มียอดขาดดุลงบประมาณลดลงแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลประยุทธ์มียอดขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น" จะเห็นได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มีความเข้มงวดเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อชดเชยงบประมาณ

นายกิตติรัตน์ย้ำว่า แม้ว่าโครงการฯนี้จะมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายแต่ต้องไปเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ประเทศได้รับ ที่มุ่งปรับสมดุลเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตขึ้นแล้วยังทำให้ชาวนา1ใน4ของประชากรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น