วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"จาตุรนต์" วิจารณ์รัฐขอปรองดองแค่ข้ออ้าง ไม่ทำจริง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

'ปยป.' มีไว้ทำไม ?

หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง 1 - 2 สัปดาห์มานี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งการปฏิรูป การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปรองดอง ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ไปไม่ถึงไหนเลยและยังส่อเค้าว่าจะล้มเหลวอีกด้วย

การที่องค์การเพื่อความโปร่งใส จัดอันดับประเทศไทยมาอยู่ในอันดับที่ 101 ในปี 2559 ลดลงจากอันดับที่ 76 ในปี 2558 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการไม่เชื่อถือในระบบตรวจสอบต่อต้านคอรัปชั่นของประเทศไทย โดยเฉพาะเขาเห็นว่าไม่มีการลงโทษผู้ที่ทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการตรวจสอบ และการปกครองเป็นแบบเผด็จการที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จไม่เป็นประชาธิปไตย

แสดงให้เห็นว่า ที่คสช.อวดอ้างว่าจะเข้ามาปราบการคอรัปชั่นนั้น เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้สร้างระบบการต่อต้านการคอรัปชั่นที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้เลย ซ้ำร้ายยังแย่ลงเสียด้วย

นี่เป็นความล้มเหลวในการปฎิรูปแบบหนึ่ง

ความจริงแล้ว ที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรที่พอนับได้ว่าเกิดการปฏิรูปขึ้นในยุคที่คสช.ครองเมือง หลายเรื่องที่เคยเป็นข้ออ้างของการขัดขวางการเลือกตั้งและนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุดนั้น ที่ผ่านมาก็มีความเห็นขัดแย้งในหมู่พวกเดียวกันเอง หรือประชาชนที่เป็นกลางๆก็ไม่เห้นด้วย จนต้องแขวนเอาไว้หลายต่อหลายเรื่อง

ใน 2 สัปดาห์มานี้ มีบางเรื่องเกิดขึ้นที่สะท้อนให้เห็นว่า ในเรื่องสำคัญๆทั้งหลายที่เคยอ้างว่าจะปฏิรูปนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีการปรึกษาหารือ หรือรับฟังความเห็นมาอย่างเพียงพอเลย ยกประเด็นอะไรขึ้นมาก็โดนถล่ม หรือไม่ก็ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะดีหรือไม่ ไปเสียหมด

เรื่องสินบน ปตท.และการบินไทย แสดงว่าในกระบวนการปฏิรูปยังไม่มีใครคิดระบบที่ดีขึ้นมา พอเรื่องแดงขึ้นมาก็เน้นแต่จะหาว่าเกิดในรัฐบาลไหนบ้าง ใครเป็นผู้รับสินบนบ้าง แต่ทำไปทำมาก็ดูจะเงียบไป ไม่กระตือรือร้นที่จะเปิดเผยข้อมูลกันเท่าไหร่ แล้วก็มาเกิดข้อเสนอที่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นปรับสำหรับผู้ที่ให้สินบน เสียงคัดค้านจึงดังระงม

อีกเรื่อง คือ ร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ สปท.เสนอนั้น กำลังเป็นที่วิจารณ์อย่างมาก ข้อห่วงใยสำคัญ มีทั้งที่ห่วงว่าจะ "ปล่อยผีรีสอร์ต” ก็มี จะ “หนุนรุกป่า” ก็มี และที่ห่วงว่า อาจทำให้มีการย้ายคนออกจากป่าในพื้นที่กว่า 3 ล้านไร่ก็มี

ที่สำคัญ ร่างพ.ร.บ.นี้สะท้อนแนวคิดที่ขาดความเข้าใจต่อแนวความคิด “ป่าชุมชน” หรือ "คนอยู่กับป่า” อย่างมาก ถ้าเดินหน้าต่อไป ผู้อยู่ในป่าอนุรักษ์นับล้านๆไร่ จะไม่มีทางมีความรู้สึกเป็นเจ้าของป่า ที่ต้องช่วยกันสร้างความยั่งยืนให้กับป่า แต่จะกลายเป็นผู้อยู่อาศัยชั่วคราว ระยะสั้นบ้าง ระยะยาวบ้าง ขึ้นกับดุลยพินิจของผู้มีอำนาจเป็นรายๆไป ในขณะที่อาจจะเกิดการปล่อยผีกันครั้งใหญ่

นี่ก็สะท้อนว่า การปฏิรูประบบรักษาฟื้นฟูป่า ไม่ไปไหนเลยอีกเหมือนกัน

แล้วก็เกิดการจะปฏิรูปสื่อขึ้น แต่กลับกลายเป็นจะเอาข้าราชการไปคุมสื่อ อธิบายไม่ได้ว่าทำไมต้องให้ข้าราชการไปคุมสื่อ และไม่ปรากฏว่าสังคมจะกำกับสื่อได้อย่างไร

ข้อกังวลของวงการสื่อประการหนึ่ง ดูจะอยู่ที่การหวั่นเกรงว่าต่อไปเมื่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจ การตั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ก็จะสามารถครอบงำหรือแทรกแซงสื่อได้

ผมอยากจะบอกว่า โดยรัฐธรรมนูญที่เขาออกแบบไว้นี้ ผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลและมีอำนาจจริงๆหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปนี้ คงจะไม่ใช่นักการเมืองที่มาจาการเลือกตั้งหรอกครับ แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการให้ปลัดกระทรวงต่างๆเข้าไปคุมสื่ออยู่ดี

อย่างไรก็ตาม กฎหมายเกี่ยวกับสื่อนี้มีปัญหาในหลายเรื่อง ซึ่งก็สะท้อนอีกว่า ที่บอกว่าจะปฏิรูปสื่อ ลงท้ายกลายเป็นการวางแผนควบคุมสื่อเสียมากกว่า

เรื่องเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่อาจฝากความหวังกับการปฏิรูป ทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้เลย

สรุปว่าการปฏิรูปหรือ ป. ตัวแรกไม่มีอนาคต

เมื่อการปฏิรูปเรื่องที่จะให้มีผลในวันนี้พรุ่งนี้ ไม่มีวี่แววว่าจะเกิดอะไรดีๆขึ้นได้ แถมยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นนี้แล้ว จึงต้องตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วการวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ผู้มีอำนาจจะเกิดญาณวิเศษขึ้นมา จนสามารถจะทำให้เกิดการวางแผนอนาคตที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้อย่างไร?

การกำหนดยุทธศาสตร์ หรือตัว ย. ก็ยิ่งไม่มีอนาคต

ส่วนการปรองดองที่ดูเหมือนจะมาแรงแบบไม่ทราบสาเหตุ เพราะแม่น้ำหลายสายประสานเสียงกัน แต่ความจริงอาจเป็นเพียงว่าตัว ป.ปรองดองนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อคณะกรรมการ ปยป.ที่จะต้องตั้งขึ้นตามโรดแมปและรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการและอนุกรรมการต่างๆเกี่ยวกับการปรองดองก็เลยต้องเกิดขึ้น

แต่กระบวนการปรองดองยังไม่ทันไปถึงไหน ก็เกิดประเด็นร้อนขึ้น เช่น จะให้นักการเมืองมาเซ็นเอ็มโอยูกัน ถ้าไม่เซ็นก็อาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ จนไม่ทราบว่า เหตุที่ยกเรื่องเอ็มโอยูขึ้นมานี้ เพื่อให้เกิดการปรองดองหรือเพื่อหาทางเลื่อนการเลือกตั้งกันแน่

กระบวนการปรองดองที่กำลังจะทำกันนี้ จุดอ่อนสำคัญอยู่ที่ผู้มีอำนาจจริงๆไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจความหมายของคำว่า "ปรองดอง" ไม่มีคนกลางๆและผู้รู้เข้าร่วมอย่างเพียงพอ หรือเกือบไม่มีเลย และไม่มีการพูดจาหารืออย่างเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย

ระหว่างที่กำลังสับสนกับการปรองดองกันอยู่ ก็เกิดมีบทวิเคราะห์ “ประเทศที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2560” พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอยู่ในอันดับ ที่ 2 ของโลก

การถูกจัดอันดับอย่างนี้ ก็เป็นความเสียหายต่อประเทศไทยพอแรงอยู่แล้ว พอมาฟังคำชี้แจงของผู้มีอำนาจทั้งหลาย ที่สรุปได้ว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็นบ้าง ถ้าประชาชนไม่ยอมรับก็ทำไม่ได้บ้าง ล่าสุดบอกว่าถ้านักการเมืองไม่ปรองดองกัน การรัฐประหารก็อาจเกิดขึ้นได้อีก ภาพลักษณ์ของประเทศก็ยิ่งตกต่ำไปใหญ่

คำอธิบายแก้ต่างๆเหล่านี้ทำให้คนทั่วโลก เขายิ่งเชื่อถือการจัดอันดับหนักเข้าไปอีก

นี่แสดงว่า การปรองดองเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่เคยพยายามทำให้เกิดขึ้น

การร่างกติกาต่างๆก็ดี การปฏิรูปต่างๆก็ดี การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ดี ควรมีผลทำให้ประเทศไทยอยู่ได้โดยสงบ แม้ขัดแย้งแตกต่างกันในความคิดก็มีกระบวนการวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมาแก้ โดยไม่ต้องใช้กำลังอาวุธเข้าจัดการ

แต่ผู้มีอำนาจเอง กลับพูดแบบมีเงื่อนไขอยู่ตลอดว่า ถ้าอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ก็อาจจำเป็นต้องทำรัฐประหารอีก

การพูดแบบนี้นอกจากแสดงว่า การปฏิรูปต่างๆล้มเหลวแล้ว ยังแสดงว่า ป. ตัวหลังหรือการปรองดองก็ไม่ได้เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

ผลเสียที่สำคัญ ก็คือ ใครจะอยากมาลงทุนในประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพ แม้ในอนาคตจะมีการเลือกตั้งขึ้น แต่มีเลือกตั้งแล้วก็อาจเกิดการรัฐประหารอีกเมื่อใดก็ได้ กลายเป็นความเสี่ยงสูงกว่าในประเทศอื่นๆ

นี่ย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล

ที่ผมลำดับความมาทั้งหมดนี้ คงจะเห็นได้ไม่ยากกว่า ทั้ง ป. ปฏิรูป ย. ยุทธศาสตร์ชาติ และ ป. ปรองดอง ไม่มีวี่แววว่า จะเกิดมรรคเกิดผลอะไรเลย

ถ้าอยากให้เกิดผลอะไรบ้าง มีทางเดียว คือ ผู้มีอำนาจต้องรับฟังความเห็นฝ่ายต่างๆให้มากขึ้น ถ้ายังทำกันอยู่แบบไม่ฟังใครเช่นนี้แล้ว

คงต้องตั้งคำถามว่า "ป.ย.ป.มีไว้ทำไม ครับ ?"
........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น