วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เกาะติดเลือกตั้ง! “คณิน” คาดการณ์พรรคเดียวทะลุ 300 ที่นั่ง


นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าว กรณีที่ กรธ. และ กกต. ต่างวิเคราะห์คาดการณ์ตรงกันว่าในการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่ให้กาบัตรใบเดียวและจัดสรรปันส่วน โอกาสที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะได้รับเลือกตั้งเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือ 251 ที่นั่งขึ้นไป เป็นไปได้ยาก ว่า “สำหรับตนนั้น กลับเห็นว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเกินครึ่งหรือต่ำกว่าครึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้นกระแสต่อต้าน นายกฯคนนอก มีมากและร้อนแรงเพียงใด? และตัวบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดต นายกฯคนใน เป็นใคร?”

นายคณิน กล่าวว่า “ถ้าหากกระแสต่อต้าน นายกฯคนนอก มีไม่มากและร้อนแรงเท่าใดนัก ในขณะที่ตัวบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดต นายกฯคนใน ก็ไม่เด่นหรือโดนใจเท่าที่ควร โอกาสที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะได้ที่นั่ง ส.ส. เกินครึ่ง ย่อมเป็นไปได้ยาก อย่างที่ กรธ. และ กกต. คาดการณ์ ในทางกลับกัน ถ้าหากกระแสต่อต้าน นายกฯคนนอก มีมากและร้อนแรง ในขณะที่ตัวบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดต นายกฯคนใน ก็ทั้งเด่นและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ว่าจะได้รับเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย อย่าว่าแต่เกินครึ่งเลย แม้แต่จะทะลุ 300 ที่นั่งก็ย่อมเป็นไปได้”
   
นายคณินกล่าวต่อว่า “กระแสในเรื่อง นายกฯคนนอก กับ นายกฯคนใน จะเป็นประเด็นหลักในการเลือกตั้งคราวหน้า ควบคู่ไปกับเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน รวมทั้งแนวทางในการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าระหว่าง นายกฯคนนอก กับ นายกฯคนใน ฝ่ายไหนจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดี ไม่ว่าฝ่ายนายกฯคนนอก หรือ นายกฯคนใน จะได้รับชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน ก็คือ บทบัญญัติที่เป็นเสมือนกับดักรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเปลี่ยนไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องกระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน คือ ตั้งแต่ 376 ที่นั่งขึ้นไป ซึ่งจะกลายเป็นวิบากกรรมของทั้งฝ่ายนายกฯคนนอก และนายกฯคนใน”
   
นายคณิน กล่าวว่า “ฝ่ายนายกฯคนใน จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมั่นคงพอสมควรต้องมีเสียงสนับสนุนประมาณ 390 เสียงขึ้นไป ซึ่งคงต้องเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคอย่างแน่นอน แม้กระนั้นการบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนประเทศก็จะเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็นและอ่อนไหวสุดๆ ทั้งในเรื่องการจ้องจับตายของทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้าน ซึ่งจะประสานและส่งลูกให้กับ ส.ว. , องค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ อย่างเข้มข้น นอกจากนั้น การดำเนินนโยบายที่ต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการที่ต้องไปรายงานความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศต่อที่ประชุมรัฐสภาทุกๆ 3 เดือน ก็จะทำให้รัฐบาลต้องกลายสภาพเป็นปลาย่างได้ตลอดเวลา ในทางกลับกัน ถ้าฝ่ายนายกฯคนนอก หาเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่ถึง 250 ที่นั่ง ก็เป็นอันปิดประตูตายสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีคนนอกเป็นนายกฯ เหตุเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ญัตติที่จะเสนอให้มีการยกเว้นไม่ต้องเลือกบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต. เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามคือ 500 เสียง แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลนายกฯคนนอก ก็ต้องมีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 390 เสียง ซึ่งก็คงต้องเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกับรัฐบาลที่จัดตั้งโดยนายกฯคนใน หรืออาจจะหนักหนากว่าด้วยซ้ำ เหตุเพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็น ส.ส. ยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลนายกฯคนนอก ที่มีเสียงเกินกว่าครึ่งเพียงเล็กน้อย หรือที่เรียกกันว่าปริ่มน้ำแล้วละก็ เตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลยว่าไปไม่รอดแน่ ถึงแม้จะมี ส.ว. 250 คน สนับสนุน ก็ช่วยอะไรไม่ได้”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น