วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
บทวิเคราะห์ - คณิน บุญสุวรรณ: ขยายเวลาพรรคการเมือง ทางออกสู่ทางตัน
กองบรรณาธิการ Social Media สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม TV24 สถานีประชาชน นำเสนอมุมมองของนายคณิน บุญสุวรรณ อดีต สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 ต่อกรณีที่มีผู้เสนอวิธีการขยายเวลาให้แก่พรรคการเมือง จากเหตุที่พรรคการเมืองทำไม่ทันตามกำหนดในกฎหมายว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่ “ทางออก” แล้ว ยังอาจนำไปสู่ “ทางตัน” อีกด้วย
นายคณิน กล่าวว่า ต้นเหตุแท้จริงที่พรรคการเมืองจะทำไม่ทัน คือ การที่ คสช. ยังไม่ยอมยกเลิกประกาศ คสช. 2 ฉบับ ที่ห้ามชุมนุมเกินห้าคนและห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมและดำเนินกิจกรรม ทางการเมือง แต่แทนที่มือกฎหมายชั้นเซียนของ คสช. คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และนายวิษณุ เครืองาม จะชงเรื่องให้ คสช. ยกเลิกประกาศ คสช. ดังกล่าว กลับเลี่ยงไปเสนอให้ขยายเวลาให้แก่พรรคการเมืองแทน โดยที่นายมีชัยเสนอให้ กกต. ชงแก้กฎหมายเพื่อขยายเวลาให้แก่พรรคการเมือง และนายวิษณุ บอกว่า เมื่อถึงเวลาพลเอกประยุทธ์จะหาทางออกให้เอง (ซึ่งก็คงไม่แคล้วการใช้ ม.44 นั่นแหละ) ในขณะที่ กกต. เสนอให้พรรคการเมืองขอขยายเวลาตาม มาตรา 141 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง
แต่ทั้งสามวิธีที่เสนอข้างต้นนั้น นายคณิน ท้วงว่า นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว ยังอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย และที่สำคัญจะกระทบต่อโรดแมปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดการเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ แบบทศนิยมไม่รู้จบ
นายคณิน กล่าวต่อไปว่า กรณีที่นายมีชัย เสนอให้ กกต. ชงกฎหมายเพื่อขยายเวลาให้แก่พรรคการเมืองนั้น นายคณินถามว่า นายมีชัยซึ่งเป็นทั้งมือกฎหมายชั้นเซียนและประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแน่ใจหรือว่าทำได้ ? ในเมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมืองซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสิบฉบับที่ได้ดำเนินการตามบทเฉพาะกาล มาตรา 267 จนครบถ้วน และประกาศใช้บังคับ ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา แล้วคนระดับนายมีชัยยังคิดที่จะนำกลับไปให้ สนช. แก้อีกหรือ?
ส่วนกรณีที่นายวิษณุบอกว่า เมื่อถึงเวลาพลเอกประยุทธ์จะหาทางออกให้เองนั้น นายคณิน กล่าวว่า นั่นก็ยิ่งแล้วกันไปใหญ่ เพราะนอกจากพลเอกประยุทธ์จะไม่มีหน้าที่แล้ว การใช้ ม.44 ในขณะที่อำนาจ รัฎฐาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในมือของ คสช. แล้ว ไปลบล้างบทบัญญัติของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งออกตามความในมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ ยังเท่ากับเป็นการลบล้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อีกด้วย
และต่อกรณีที่ กกต. เสนอให้พรรคการเมืองขอขยายเวลาตามมาตรา 141 วรรคสอง ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง นั้น นายคณินเตือนว่า กกต. ต้องไม่ลืมว่า กกต. เอง จะต้องจัดและดำเนินการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ป. 4 ฉบับ มีผลใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ประกอบกับขั้นตอนและหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการขอขยายเวลาดังกล่าวต้องใช้เวลานาน ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือน แถมยังอาจเกิดปัญหาที่นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่อนุญาต ซึ่งต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกต่างหาก คิดหรือว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเวลา 150 วัน ดังกล่าว ? ดังนั้น การใช้วิธีที่ กกต. เสนอ จึงนอกจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 และมาตรา 268 และกระทบต่อกำหนดการเลือกตั้งที่จะถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ แล้ว ยังอาจจะเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองตามมาอีกต่างหาก
นายคณิน ยังกล่าวด้วยว่า โทษของการที่พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 141 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะภายใน 90 วัน หรือภายใน 180 วัน คือ ต้องสิ้นสภาพพรรคการเมือง นอกจากนั้น ถึงแม้พรรคการเมืองจะไม่สิ้นสภาพ แต่ถ้ายังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสาขาพรรคการเมืองอย่างครบถ้วน พรรคการเมืองนั้นก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้
สรุปได้ว่า พรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคการเมืองเก่าที่มีอยู่แล้ว มีแต่ “ตายกับตาย” ตราบใดที่ยังไม่ปลดล็อคประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับ ซึ่งคำว่า “ตายกับตาย” ในที่นี้ก็อาจหมายถึงความ “ล่มสลาย” ของระบบพรรคการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มต้น เรียกว่า “แท้งก่อนเกิด” ว่าอย่างนั้นเถอะ
และถ้าระบบพรรคการเมืองซึ่งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย มีอันต้อง “ล่มสลาย” ไปเสียแล้ว
ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีเหลืออยู่น้อยนิดภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะอยู่รอดและแข็งแรงเติบโตต่อไปได้อย่างไร ?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น