วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ดร.จรัล อัมพรกลิ่นแก้ว: ขันลงหินชุมชนบ้านบุ ชุมชนโบราณที่ยังมีชีวิต

บทความ: ดร.จรัล อัมพรกลิ่นแก้ว / ภาพ : ธีรพล สุขสาลี

ยนย่านบ้านบุตั้ง ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจรร แจ่มฟ้า
ยามยากหากปันกัน กินซีก ฉลีกแฮ
มีคู่ชูชื่นหน้า นุชปลื้มลืมเดิมฯ

จากโครงนิราศสุพรรณ ของกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “สุนทรภู่” ได้กล่าวถึงชื่อชุมชนหนึ่งชื่อ “บ้านบุ” ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในย่านบางกอกน้อย โดยในนิราศนี้ได้พรรณนาถึงการเดินทางของตัวเองจากบางกอกไปสุพรรณบุรี โดยในโคลงดังกล่าวกล่าวถึงชุมชนบ้านบุ ว่ามีอาชีพการตีขัน หรือทำขันลงหิน และยังอ้างอิงด้วยว่า ชุมชนบ้านบุนี้เป็นบ้านเดิมของภรรยาคนหนึ่งชื่อ จันน หรือ จรร ซึ่งเป็นนางฝ่ายในในพระราชวังหลัง โดยสุนทรภู่ และนางจันน หรือ จรร มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อ พัด ได้อยู่กินจนกระทั่งหย่าร้างกันไป ดังนั้นจึงเป็นหลักฐานสำคัญว่า อาชีพทำขันลงหินในชุมชนบ้านบุ เป็นอาชีพและชุมชนเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณมากกว่า 200 ปี


ผลิตภัณฑ์ขันลงหินของบ้านบุ เขตบางกอกน้อย เป็นแหล่งทำเครื่องทองลงหินที่สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นยาวนานมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องใช้เครื่องเรือนที่ทำจากโลหะอื่นใดมาจากต่างประเทศ นอกจากเครื่องกระเบื้อง จึงทำให้เครื่องทองลงหินเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง มีความงดงามประณีต จึงเป็นภาชนะโลหะที่มีราคา และนิยมใช้ในกาลงานมงคล เช่นการตักบาตร ขันน้ำมนต์ ถ้วยชามจัดอาหารถวายพระสงฆ์ และด้วยกระบวนการผลิตที่ละเอียดอ่อน ใช้เวลานาน จึงไม่สามารถที่จะผลิตได้ในเชิงอุตสาหกรรมเพราะใช้แรงงานคนและมือในการผลิตทุกขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันเหลือโรงงานขันลงหินโบราณที่สืบทอดกันมาเพียงแห่งเดียวที่ชุมชนบ้านบุ คือโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา โดยทีมช่างที่ยังหลงเหลือผลิตก็ล้วนแต่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น


ขั้นตอนการทำขันลงหิน จะใช้ส่วนผสม ทองแดง 7 ส่วน ดีบุก 2 ส่วน และมีขันเก่าและโลหะบางชนิดตัวเชื่อมอีกจำนวนหนึ่ง นำโลหะทั้งหมดมาหลอมละลายด้วยเตาถ่าน ซึ่งให้ความร้อนสูง หลอมละลายโลหะทั้งหมดให้กลายเป็นน้ำ ใช้เวลา 6 ชั่วโมง ก่อนเทลงเบ้าพิมพ์ เพื่อให้โลหะที่หลอมละลายเป็นก้อนแผ่นกลมๆ และจึงเคาะแผ่นกลมออกมา เผาซ้ำอีกครั้งให้แดงและตีขึ้นรูปจากก้อนแผ่นเป็นรูปถ้วย ในวันหนึ่งจะสามารถเผาหลอมโลหะมาเทพิมพ์ เมื่อเย็นตัวลงก็เอามาตีเพื่อให้ขึ้นรูปเป็นรูปภาชนะ วันละไม่ถึง 10 ชิ้นเท่านั้น


ในขั้นตอนถัดไป เมื่อได้โลหะที่ได้รูปทรง ก็ต้องนำมาตีขึ้นทรงให้เป็นรูปร่างที่ต้องการ เป็นขั้นตอนการเก็บงาน เก็บรอยต่อ เก็บงานตอกลายและตีให้รอยตีที่เป็นลายหยาบ ละเอียดมากขึ้น  จะต้องตีให้สม่ำเสมอกันตลอดเพื่อให้เนื้อภาชนะบางแน่นเนียนเสมอกัน


ในขั้นตอนตีตรงนี้จะตีเก็บลาย จะใช้ดินหม้อสีดำ ทาผิวก่อนที่จะตีเนื้อโลหะที่ยังไม่เรียบเสมอ ให้เรียบเสมอเข้ากัน จากนั้น จึงนำมาเข้าสู่ขั้นตอนการกลึง  ในขั้นตอนการกลึง จะใช้ตะไบกลึงเนื้อขันที่ยังไม่เรียบพอให้เนียนเรียบและเผยให้เห็นเนื้อโลหะที่เป็นเงางามสีทอง และการขัด ก็คือจะใช้หินเกล็ดที่ได้ในเบ้าดินที่หลอมทองที่มีส่วนผสมโลหะ เอาหินที่มีโลหะผสมมาเทลงในขันและขัด เนื้อโลหะถูกขัดด้วยเนื้อหินโลหะจะทำให้เนื้อโลหะเงางามสดใสแวววาว


ขั้นตอนถัดจากนั้น ถ้าจะต้องเชื่อมขันลงหินให้ติดกันเช่นทำพานหรือขันรองน้ำ ก็จะเอาขันลงหินส่วนฐานและตัวพานมาเชื่อมกันด้วยตะกั่วซึ่งเป็นวิธีโบราณ ใช้ค้อนเหล็กเผาไฟให้แดง จี้ลงไปในเส้นตะกั่วและนำไปตีเชื่อมให้เนื้อโลหะขันลงหินติดกัน  ส่วนถ้าจะแกะลาย ก็จะส่งไปให้ช่างแกะลายเขียนลายที่ต้องการได้ตามรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ


สมัยโบราณ จะนิยมใช้พานหรือขันลงหินที่เป็นแบบเรียบ มีลายตอกเพียงเล็กน้อย แต่สมัยปัจจุบันมีการเพิ่มลวดลายและรูปแบบตามความต้องการของลูกค้า

จากโบราณที่ภาชนะขันลงหิน จะมีเพียงแค่ขันน้ำ พานรองและจอกลอย ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย เหมาะสมกับการใช้งานที่เปลี่ยนไป จึงเริ่มมีการผลิตชุดชามผลไม้ ชุดกาแฟ ชุดชามสลัด โดยแต่ละชิ้นจะมีราคาสูง ซึ่งลูกค้าของภาชนะขันลงหิน จะเป็นการสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังวางขายในร้านค้าชั้นนำและโรงแรมระดับห้าดาวเท่านั้น










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น