วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"จาตุรนต์" สั่งประยุทธ์ ชี้แจงปมถวายสัตย์

นายจาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์ข้อความผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเนื้อหาดังนี้



ถึงอย่างไรประยุทธ์ก็ต้องชี้แจงเรื่อง #ถวายสัตย์ไม่ครบ ต่อสภาผู้แทนราษฏร ไม่ชี้แจงไม่ได้

พลเอกประยุทธ์ไม่ยอมมาชี้แจงต่อสภาถึงสองสัปดาห์ติดต่อกันแล้ว ในสัปดาห์แรกก็อาจพอฟังได้ว่าติดภารกิจจำเป็น แต่พอมาสัปดาห์นี้ ข้ออ้างอะไรก็ฟังไม่ขึ้น สาเหตุก็คงไม่มีอะไรนอกจากกลัวว่าจะจนกลางสภาเพราะไม่สามารถชี้แจงได้ แต่เมื่อไม่มาชี้แจงในเรื่องสำคัญอย่างนี้ต่อเนื่องกัน ก็มีปัญหาว่าแล้วต่อๆไปจะทำงานกับสภาอย่างไร จะมาชี้แจงเรื่องอื่นๆหรือไม่ จะมีความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฏรหรือไม่

ล่าสุดดูเหมือนพลเอกประยุทธ์และเนติบริกรคู่ใจจะเตรียมหาทางออกเรื่องนี้ไว้ด้วยการอ้างว่าเรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และในระหว่างที่มีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พวกเขาก็คงอ้างว่าสภาไม่ควรอภิปรายหรือพูดถึงเรื่องการถวายสัตย์ฯไม่ครบอีกต่อไป มิฉะนั้นจะเป็นการไปชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ต้องไปชี้แจงต่อสภา

ความจริงเรื่องการถวายสัตย์ฯไม่ครบนี้ ไม่จำเป็นต้องจบที่ศาลรัฐธรรมนูญที่เดียว หากมีคนร้องไปที่ปปช.แล้วปปช.เห็นว่าผิดพรป.ปปช. ปปช.อาจฟ้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้

แต่ไม่ว่าเรื่องจะไปที่ศาลใด สภาผู้แทนราษฏรก็ยังสามารถพิจารณาเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบนี้ได้อยู่ดี

มีการอธิบายเรื่องสภาไม่ควรพูดถึงเรื่องใดๆที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่คราวที่มีการพูดเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ดูเหมือนประธานสภาก็วินิจฉัยไปทำนองนั้น แต่ผมเข้าใจว่าเนื่องจากเรื่องนั้นมีการอภิปรายไปแล้วพอสมควรก่อนที่เรื่องจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ สส.ทั้งหลายจึงไม่ได้ติดใจที่จะพูดถึงเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีอีกเท่าไรนัก ซึ่งก็เลยทำให้ไม่ได้มีการพูดกันว่าสภาไม่ควรพูดถึงเรื่องที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่

จากที่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องทำนองนี้มาบ้าง ผมมีความเห็นว่าความเห็นที่ว่า “เมื่อเรื่องใดที่สภาผู้แทนราษฏรกำลังพิจารณากันอยู่เกิดไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฏรไม่ควรอภิปรายเรื่องนั้นอีกต่อไป” นั้นเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับหลักของการแบ่งแยกอำนาจและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม

พูดให้เฉพาะเจาะจงมากๆคือกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบของพลเอกประยุทธ์นี้ขณะนี้มีคนเสนอเรื่องไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาซึ่งต่อไปผู้ตรวจการแผ่นดินอาจส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
แต่ถึงแม้เรื่องไปถึงขั้นนั้นแล้ว สภาผู้แทนก็ยังสามารถพิจารณาเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบนี้ได้เพราะเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีซึ่งสามารถพิจารณาได้ในหลายแง่มุม โดยไม่มีปัญหาเรื่องการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดทั้งสิ้น หากแต่เป็นการทำหน้าที่คนละทางคนละส่วนกัน

ตั้งคำถามง่ายๆว่าถ้าเรื่องถวายสัตย์ฯนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ส.ยังจะเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและครม.ด้วยเรื่องนี้ได้หรือไม่?

คำตอบก็คือ ต้องได้แน่นอน

สส.อาจตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเพื่อจะได้รู้ว่าจริงๆแล้วเกิดอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีจะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือส.ส.จะเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปที่ไม่ต้องมีการลงมติก็ได้ หรือต่อไปจะอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้ด้วยก็ได้ สิ่งที่อภิปรายในสภาไม่ใช่การชี้นำและย่อมไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญๆอาจนำเอาไปใช้ประกอบการพิจารณาคดีหรือไม่ก็ได้

ในทางตรงกันข้ามแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณของพลเอกประยุทธ์ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สภาก็อาจยังไม่ไว้ใจพลเอกประยุทธ์และยังคงอภิปรายไม่ไว้วางใจกันต่อไป กระทั่งอาจจะลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ไปเลยก็ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะถือว่าสภาจะไปขัดแย้งอะไรกับศาลรัฐธรรมนูญ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน

ปกติองค์กรอิสระเช่นปปช.หรือศาลเช่นศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดมีมูลว่าทุจริตหรือมีเหตุสงสัยว่าจะกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจสั่งให้นักการเมืองคนนั้นหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนได้ แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดที่บัญญัติว่าหากมีการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้วให้สภาผู้แทนราษฏรหยุดการปฏิบัติหน้าที่หน้าที่ในเรื่องนั้นไว้ก่อน

ที่พูดเรื่องทำนองนี้กันในสภาและที่ได้ยินแว่วๆมาจากทำเนียบรัฐบาลนั้นไม่มีหลักเกณฑ์หลักการอะไรรองรับ อย่างหนึ่งก็เป็นเพียงการช่วยหาทางให้พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องจนแต้มตกม้ากลางสภา แต่ที่เขาเล็งผลเลิศมากกว่านั้นก็คือจะได้ทำให้พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องถูกตรวจสอบใดๆจากทั้งสภาผู้แทนราษฏร สื่อมวลชนและประชาชนอีกเลยไม่ว่าวิถีทางใด

เขาอยู่กับการไม่ต้องถูกตรวจสอบมาจนเคยตัวกันหมดแล้ว ก็หวังว่าสภาผู้แทนราษฏรจะไม่ปล่อยให้พลเอกประยุทธ์เอาตัวรอดจากการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนไปได้ด้วยการบิดเบือนหลักการอย่างที่เขาพยายามทำกันอยู่นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น