วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563

จาตุรนต์ ฉายแสง: ปาฐกถารำลึก 44 ปี 6 ตุลาคม 2519

ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง ประดับดอกไม้สดบริเวณ ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในงาน “ครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ประจำปี 2563 เพื่อร่วมรำลึกและไว้อาลัยแก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และปาฐกถารําลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตผู้นำนักศึกษา “6 ตุลาฯ 2519” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นปาฐกถารำลึก โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ดังนี้

ปาฐกถา 6 ตุลา 2563

ท่านอธิการบดี คณาจารย์ นักศึกษา ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายให้มาพูดรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ในวันนี้

ขอร่วมรำลึกถึงวีรชน 6 ตุลา ผู้เสียสละชีวิตและที่ต้องบาดเจ็บทุพพลภาพมาจนทุกวันนี้ วีรชนที่ต่อสู้คัดค้านเผด็จการ วีรชนที่ต้องการพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยและต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม

เมื่อได้รับมอบหมายให้มาพูด ผมก็ตั้งคำถามว่า เราจะรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างไร ทำความเข้าใจ เก็บรับบทเรียน จะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตอย่างไร

ขอเริ่มจาก การแสดงความเห็นถึงความหมายของเหตุการณ์ 6 ตุลา

ผมอาจจะเป็นอดีตนักศึกษาต่างจังหวัดคนแรกๆ ที่มาพูดในโอกาสนี้ ซึ่งความจริงก็ไม่แปลกเลยที่อดีตนักศึกษาจากต่างจังหวัดคนหนึ่งจะมาพูดถึง 6 ตุลา ซึ่งผมจะได้ให้เหตุผลต่อไป

ที่ผ่านมามักมีการพูดถึง 6 ตุลา 19 โดยเน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวง ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่อาจทำให้เกิดความเข้าใจความหมายของ 6 ตุลา ไม่ครบถ้วน

ผมอยากเสนอความหมายของ 6 ตุลาใน 3 ประเด็น

1.เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของชาวธรรมศาสตร์ แต่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาทั่วประเทศ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว นักศึกษาที่ชุมนุมและเสียชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มาจากหลายมหาวิทยาลัย  การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงนั้นมีขึ้นทั่วประเทศและได้รับผลกระทบทั่วกัน เหตุการณ์ 6 ตุลา ส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งประเทศ

เมื่อ 6 ตุลา 19 ผมชุมนุมอยู่ที่เชียงใหม่ เมื่อทราบว่ามีการยิงถล่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่กลางคืนและต่อมาตอนเช้าที่เชียงใหม่เองก็มีการรวมตัวของกลุ่มที่กระเหี้ยนกระหือรือจะมาทำร้ายนักศึกษา ผมจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประกาศยุติการชุมนุมที่เชียงใหม่ เมื่อตอนสายวันนั้น หลังจากนั้นการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของผมและเพื่อนๆ นักศึกษาอีกนับร้อยก็ยุติลง หลายคนเข้าป่าไปและหลายคนก็เสียชีวิตไป

2.เหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ใช่การสังหารโหดเพียงอย่างเดียว นอกจากมีการจับกุมคุมขังนักศึกษาหลายพันคน รวมทั้ง ดำเนินคดีแกนนำข้อหาร้ายแรงในศาลทหาร ในวันเดียวกันนั้นมีการรัฐประหาร การล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ปิดฉากการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นดอกผลจากการเคลื่อนไหว 14 ตุลา 2516

การรัฐประหารที่เป็นการดึงประเทศถอยหลังกลับไปสู่ระบอบที่สมัยนั้นใช้คำว่าระบอบเผด็จการโดยนายทุนขุนศึกศักดินา ที่ต้องการปกครองประเทศแบบเผด็จการเต็มขั้น ซึ่งกำหนดเป็นแผนการนานถึง 12 ปี

3.เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นความต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่เป็นพัฒนาการต่อเนื่อง เพียงแต่สำหรับประเทศชาติแล้วมันเป็นพัฒนาการในทางถอยหลัง

เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นได้อย่างไร ยังมีคำถามว่านักศึกษาทำอะไรที่ธรรมศาสตร์ จึงต้องถูกฆ่า

ความจริงแล้วนักศึกษาเพียงชุมนุมต่อต้านการกลับมาของเผด็จการ

ความจริงแล้ว ต้องถามว่าจาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา เกิดอะไรขึ้น ทำไมชนชั้นนำจึงยอมไม่ได้

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง นายกฯ มาจาก ส.ส. เริ่มมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นหรือกลับมาใหม่และพรรคการเมืองเริ่มมีบทบาท รัฐสภามีบทบาท การบริหารราชการไม่อยู่ในมือข้าราชการแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป

มีการปะทุขึ้นของปัญหาของประชาชนที่ถูกกดทับไว้ยาวนาน เกิดการเรียกร้องสิทธิผลประโยชน์และความเป็นธรรมอย่างกว้างขวาง ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงและเป็นเสียงที่ผู้มีอำนาจและระบบราชการต้องฟังด้วยความรำคาญและทนไม่ได้

นักเรียน นักศึกษาได้เรียนรู้ปัญหาของสังคมจากการเข้าหาประชาชน ร่วมกับประชาชนในการต่อสู้เรียกร้องต่างๆ เกิดการเคลื่อนไหวอันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน

มีการก่อตัวของอุดมการณ์สังคมนิยมในหมู่แกนนำนักศึกษา ปัญญาชนบางส่วน ที่จริงๆ แล้วก็ยังไม่มีศักยภาพมากนัก ในขณะที่สงครามเย็นยังไม่สิ้นสุด ประทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศเปลี่ยนเป็นสังคมนิยมในปี 2518 ขณะที่มีการโหมประโคมแนวคิดทฤษฎีโดมิโน

การป้องกันภัยจากคอมมิวนิสต์กลายเป็นข้ออ้างอย่างดีที่จะผนึกกำลังชนชั้นนำเข้าด้วยกัน แต่การกลัวสภาพที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนกำลังจะปกครองกันเอง น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ชนชั้นนำทนไม่ได้

เกิดกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” , “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ที่ปลุกขึ้นมาโดยชนชั้นนำ เกิดปฏิบัติการอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง มีการฆ่าผู้นำนักศึกษา นักการเมือง ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนาและประชาชน

การเคลื่อนไหว เมื่อ 6 ตุลา 19 คือการพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยไว้ การคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดทางและยอมรับเผด็จการ เป็นการปูทางสู่การนำประเทศกลับสู่ระบอบเผด็จการนั่นเอง

แล้วการใส่ร้ายป้ายสี ปลุกระดมให้เกิดความโกรธแค้นเกลียดชังจนถึงการเข่นฆ่าอย่างโหดเหี้ยมอุกอาจกลางกรุงเทพฯ จึงได้เกิดขึ้นด้วยการวางแผนและสั่งการอย่างเป็นระบบ

การสังหารโหดเมื่อ 6 ตุลา เป็นการใช้กำลังความรุนแรงเพื่อขจัดทำลายการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การรัฐประหารในวันเดียวกัน

เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ส่งผลอย่างไร

การรัฐประหาร 6 ตุลา ทำให้ประเทศถอยหลังก้าวใหญ่สู่ระบอบเผด็จการเต็มขั้น จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปราบประชาชน

นักศึกษานับพันคนอยู่ในสภาพที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใช้คำว่าไม่มีทางเลือกที่สาม ถ้าไม่ยอมจำนนอยู่กับเผด็จการ ก็ต้องเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้การต่อสู้ด้วยอาวุธขยายตัวอย่างกว้างขวาง เกิดความสูญเสียของคนในชาติเป็นจำนวนมาก กว่าความขัดแย้งที่รุนแรงนั้นจะยุติลงก็เป็นเวลาอีกหลายปี

เหตุการณ์ 6 ตุลา และระบบการปกครองหลังจากนั้น ได้หยุดยั้งการพัฒนาอุดมการณ์ แนวคิดเสรีประชาธิปไตยของไทยเป็นเวลายาวนาน หยุดยั้งพัฒนาการของระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมืองขัดขวางการจัดตั้งกลุ่มองค์กรของประชาชนที่มีอำนาจต่อรองจนหมดไปหรืออ่อนแอลง

6 ตุลา เป็นกรณีต้นแบบของการกระทำความผิดร้ายแรงได้โดยไม่ต้องรับโทษ คุณสุธรรม แสงประทุม กับพวก 18 คนถูกดำเนินคดีร้ายแรงในศาลทหาร โดยไม่มีทนาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย ต่อมามีการออกกฎหมายนิรโทษ เรียกว่าการนิรโทษผู้ต้องหาคดีก่อการจลาจล  บอกว่าเป็นพวกหลงผิด แต่ความจริงเป็นการนิรโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารเข่นฆ่าประชาชนทั้งหมดให้ไม่ต้องรับโทษใดๆ เลย ผู้ที่สังหารประชาชนในอีกหลายเหตุการณ์ต่อมาก็ไม่ต้องรับผิดทำนองเดียวกันกับในเหตุการณ์ 6 ตุลา ด้วยวิธีที่อาจต่างไปบ้างเท่านั้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอกย้ำว่าสังคมไทยไม่มีหลักนิติธรรม

การรำลึกถึง 6 ตุลา อาจเต็มไปด้วยความโกรธ ความรู้สึกที่เจ็บปวด ต่อความโหดร้ายของคนไทยด้วยกัน แต่ปฏิบัติการที่โหดเหี้ยมเลวทรามนี้มีต้นตอมาจากระบอบเผด็จการที่เกิดจากการร่วมมือกันของกลุ่มที่เรียกกันในอดีตว่า นายทุน ขุนศึก ศักดินา

บทเรียนสำหรับสังคมไทย

1.การใช้กำลังความรุนแรงเข้าจัดการกับผู้เห็นต่าง ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ หากแต่เพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น เป็นตราบาปของชนชั้นนำของสังคมไทยที่แสดงถึงความป่าเถื่อนไร้อารยะ

2.การใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและระบบมากกว่านิสัยใจคอของบุคคล ระบบเผด็จการที่ถือว่าผู้มีกำลังอาวุธในมือเข้มแข็งที่สุดคือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ระบบแบบนี้พร้อมจะฆ่าคนที่เห็นต่างเพื่อรักษาระบบและโครงสร้างที่ล้าหลังให้คงอยู่ต่อไป

3.การแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้ยุติลงด้วยการประหัตประหารผู้เห็นต่างให้สิ้นซากไป แต่เกิดจากการผสมผสานของการใช้การเมืองระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์ การผ่อนคลายให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยขึ้นบ้างในเวลาต่อมาและการเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างทั้งหลายสามารถคืนสู่สังคมและมีที่ยืนอยู่ได้เช่นเดียวกับผู้อื่น

เมื่อมองเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วก็หันมามองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

ถ้าจะเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันกับนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลาในอดีต ก็อาจกล่าวได้ว่ามีจุดร่วมกันอยู่ที่การมองเห็นปัญหาของบ้านเมือง การมีความใฝ่ฝันอยากเห็นสังคมที่ดี การมีอุดมการณ์ที่รู้สึกว่าต้องใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

พลังของนักศึกษากี่ยุคกี่สมัย ก็มักเป็นที่ยอมรับของประชาชนเนื่องจากความเป็นปัญญาชน เป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์หรือการเป็นขั้วเป็นฝ่ายทางการเมืองใดๆ

จุดที่ต่างกันก็คือ ปัญหาของบ้านเมืองในปัจจุบันซับซ้อนกว่าสมัยก่อนมาก น่าจะเป็นเพราะเทคโนโลยี ระบบข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้นักเรียนนักศึกษาปัจจุบัน เรียนรู้และเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนในปัจจุบันได้อย่างดี ทั้งประวัติศาสตร์ที่ย้อนหลังไปไกลรวมถึงโครงสร้างและระบบสังคมในปัจจุบัน

นอกจากการเรียนรู้จากข้อมูลข่าวสารแล้ว ที่สำคัญและมีผลต่อการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันน่าจะได้แก่ความเป็นจริงของสังคมไทยในหลายปีมานี้ที่ย้อนแย้งกับสิ่งที่พวกเขาถูกพร่ำสอนอยู่ในห้องเรียนหรือในมหาวิทยาลัย

มีคำถามว่าใครหนุนหลังการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา สิ่งที่หนุนหลังการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน ก็คือสภาพการณ์ 4-5 อย่างต่อไปนี้ ที่ดำรงอยู่พร้อมๆ กัน คือ

1.วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน

2.วิกฤตการเมือง ที่ทั้งรัฐบาลและรัฐธรรมนูญเป็นตัวถ่วงการแก้ปัญหาของบ้านเมือง

3.วิกฤตของระบบการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างคนให้พร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกสมัยใหม่

4.การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ในทุกด้าน

และ 5.ความผันผวนของโลก

นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้สภาพเหล่านี้และทำให้พวกเขาได้ข้อสรุปว่าประเทศนี้ไม่มีอนาคต พวกเขาไม่มีอนาคต ซึ่งก็น่าจะตรงกับพวกเราทั้งหลายในที่นี้ ที่เห็นว่าถ้าบ้านเมืองเป็นอยู่อย่างนี้ ใครก็ไม่มีอนาคต

การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปีนี้ค่อนข้างมีความหมายที่พิเศษ

1.ในระยะหลัง โดยเฉพาะ 1-2 ปีมานี้ มีการรำลึกและพูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลา โดยเฉพาะ 6 ตุลา โดยคนรุ่นใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ามีการศึกษาและวิเคราะห์มาอย่างลึกซึ้ง มีการทำความเข้าใจกับความหมายของเหตุการณ์ ทวงถามหาความยุติธรรม ถามหาคนผิด ที่สำคัญคือมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีตเข้ากับปัญหาในระดับโครงสร้างของสังคม ที่น่ายินดีอย่างยิ่งคือการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่นี้กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ของนักคิดนักวิชาการของสังคมไทยที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ในมิติที่กว้างขวางขึ้นด้วย

2.ในปีนี้มีการรำลึกเหตุการณ์เดือนตุลาที่มากกว่าการรำลึกหรือแสดงความอาลัย แต่กำลังจะมีการรำลึกด้วยการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดีขึ้น

เรามารำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา รำลึกถึงความเสียสละของวีรชน 6 ตุลา รำลึกถึงความโหดเหี้ยมของระบอบเผด็จการและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้น เราควรจะมองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ด้วยใจที่เปิดกว้าง ทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถนิ่งเฉยดูดายความล้าหลังของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน

หวังว่า ผู้มีอำนาจในปัจจุบันทั้งหลายจะได้เรียนรู้จากอดีต พอที่จะรู้ว่าการเข่นฆ่าทำลายผู้ที่เห็นต่างนั้น มีแต่จะทำให้สังคมมีปัญหาความขัดแย้งไม่สิ้นสุด หวังว่าผู้มีอำนาจจะหยุดคุกคามหยุดหาทางทำลายการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา แล้วหันมาแสดงความพร้อมที่จะรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อหาทางออกจากวิกฤตของประเทศร่วมกันตามครรลองประชาธิปไตย

ผมไม่มีอะไรจะแนะนำคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน และอยากจะย้ำอีกครั้งว่าใครที่คิดจะเตือนนักศึกษาว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะเกิดแบบ 6 ตุลาขึ้นนั้น ขอให้ทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลา เสียใหม่ เพราะเมื่อ 6 ตุลา 19 นักศึกษาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย นักศึกษาไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้เกิดการปราบเข่นฆ่าเลย ความรุนแรงมาจากฝ่ายชนชั้นนำทั้งสิ้น ถ้าจะเตือนก็ต้องเตือนผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่าอย่าสร้างความเกลียดชัง อย่างสร้างเงื่อนไขเพื่อจะได้ใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษา

โลกยุคใหม่นี้ การใส่ร้ายป้ายสีสร้างความเกลียดชังด้วยความเท็จ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นและสำเร็จง่ายๆเหมือนเมื่อ 44 ปีก่อน

ผมไม่เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้จะพัฒนาไปซ้ำรอย 6 ตุลา ได้ ดูจากเหตุปัจจัยต่างๆแล้ว ถ้าจะเทียบกับอดีต แม้จะแตกต่างกันมาก แต่สถานการณ์ในวันนี้มีโอกาสจะพัฒนาไปใกล้เคียงกับเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลา หรือพฤษภา 35 มากกว่า 6 ตุลา

ถ้าประชาชนทั้งประเทศพร้อมที่จะร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้นักเรียนนักศึกษาต้องต่อสู้ไปตามลำพัง การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอาจยิ่งใหญ่และยั่งยืนกว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในอดีตก็เป็นได้

14 ตุลา 6 ตุลา คือการต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย

ถึงวันนี้บ้านเมืองก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย

จึงเป็นภารกิจของพวกเราทุกคนที่จะร่วมกับประชาชนทั้งประเทศ สร้างสถาปนาประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น 

1 ความคิดเห็น:

  1. .
    ปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ 2519”
    ประจำปี 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :
    Chaturon Chaisang
    ๖๗
    ไม่ใช่เรื่องเฉพาะชาวธรรมศาสตร์
    ทร ราช เผด็จ การ ทหาร
    นายทุน ขุนศึก ศักดินา…โบราณ
    วางแผนสั่งงานเป็นระบบฆ่าเป็นศพกลางกรุง
    .
    สามัญชน
    ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓
    🙏💖💯💋😘🐸🐠🐬🐞🌐🌀⁉️
    https://wp.me/pb4dmQ-lL
    .
    #ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย , #44ปี6ตุลา , จาตุรนต์ ฉายแสง, Chaturon Chaisang
    .

    ตอบลบ