ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า
จากวันที่ 22 พ.ค. 2557 ปัญหาการเมืองทั้งหมดถูกปฏิเสธที่จะแก้ไขผ่านกระบวนการปกติ แต่ถูกกดทับด้วยพรมผืนใหญ่เสมือนว่าความขัดแย้งนั้นหายไป วันนี้พรมนั้นไม่สามารถปิดปัญหาได้อีก ปัญหาจึงเด่นชัด เป็น 6 ปีที่สูญเปล่า รัฐบาลเลือกที่จะกลบวิกฤติการเมืองหนึ่งด้วยการสร้างวิกฤติการเมืองที่ใหญ่กว่าขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญบิดเบี้ยวที่พันธนาการสังคมไทย ผนวกกับทัศนคติว่ารัฐบาลคือความถูกต้อง เป็นแรงกดดันที่ได้ปะทุออกมา เป็นหนึ่งในวิกฤติการเมืองที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทย
ประการต่อมา คือ วิกฤติเศรษฐกิจโครงสร้าง เศรษฐกิจไทยอ่อนแอและเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ทั้งด้านผลิตภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในฝั่งอุปทาน และตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจของการฟื้นตัวฝั่งอุปสงค์ เหล่านี้ถูกตอกย้ำครั้งแรกด้วยโรคระบาด และครั้งที่สองด้วยมาตรการประสิทธิภาพต่ำ ในภาวะที่เอกชนรายย่อยต้องการสินเชื่ออย่างยิ่งยวด แต่มาตรการการเงินกลับลงไปไม่ถึงผู้เดือดร้อนจริง สินเชื่อธุรกิจรายเล็กหดตัว 2.6%YTD ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่ขยายตัว 10.4% YTD สะท้อนการกระจุกตัวและความล้มเหลวของมาตรการการเงิน ส่วนมาตรการการคลัง เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ถูกใช้จริงเพียง 5 แสนล้านบาท ทำให้มาตรการภาครัฐเข้ามาช้อนไม่ทันรายได้ที่หดหาย จะนำไปสู่ภาวะเหวทางการคลังซึ่งอันตราย ในขณะที่ภาวะการปิดกิจการยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และภาวะการตกงานที่เห็นอยู่ ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะการตกงานมีจุดต่ำสุดหลังเศรษฐกิจในภาพรวม 6-12 เดือน เมื่อตลาดแรงงานไม่ฟื้น กำลังซื้อภายในประเทศไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์จริง แต่เป็นอุปสงค์เทียมที่สร้างขึ้นจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งกำลังอ่อนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญ
ประการสุดท้าย คือ วิกฤติความเชื่อมั่น เมื่อประชาชนในประเทศไม่เห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันมีศักยภาพเพียงพอที่จะคลี่คลายปัญหาข้างต้นได้ เมื่อปัญหาลงลึก สวนทางกับศักยภาพที่มีอย่างจำกัด ความเชื่อมั่นจึงหมดลง กลายเป็นการไม่ยอมรับรัฐบาล
เมื่อทั้ง 3 วิกฤติ ได้แก่ วิกฤติการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติความเชื่อมั่น มาเจอ "พร้อมกันที่จุดตัด" ณ จุดนั้น ประวัติศาสตร์บอกกับเราว่า มันใกล้จะถึงจุดจบของรัฐบาล
24 ต.ค. 2563
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น