วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

"ยิ่งลักษณ์" เยือนมหาวิทยาลัยสตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โชว์วิสัยทัศน์ "บทบาทผู้นำสตรี"

(26 มีนาคม 2555 กรุงโซล) - นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ehwa Woman’s University) เพื่อกล่าวสุนทรพจน์แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา มหาวิทยาลัยหญิงล้วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก 
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวบรรยายพิเศษเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย ในหัวข้อ Women in Leadership: Vision of the Prime Minister of Thailand แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ดังนี้
นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
"ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยือนมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยผู้หญิงล้วนที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่าสถาบันแห่งนี้ได้ผลิตสตรีชั้นแนวหน้าของเกาหลีใต้ในหลายวงการ มีรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีของเกาหลีใต้เกินกว่าครึ่งที่จบการศึกษา ณ ที่นี้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยในการช่วยยกระดับสถานะของสตรีในสังคม การมาเยือนเกาหลีใต้ของข้าพเจ้าครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงตั้งใจที่จะมาที่นี่ มาเพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาบทบาทของสตรี  และเพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในการพัฒนาการศึกษาของสตรีไทยด้วย"
"ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชมการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรีในเกาหลีใต้ที่ทำให้สถานภาพของสตรีมีความก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย จากดรรชนีชี้วัดความเท่าเทียมทางเพศของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 2011ได้จัดอันดับให้เกาหลีใต้อยู่ในลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งตัวเลขนี้ มีความสัมพันธ์กับระดับของการพัฒนาประเทศด้วย  โดยปรากฏว่ายิ่งสถานภาพของผู้หญิงอยู่ในอันดับที่สูงมากเท่าไร ระดับของการพัฒนาประเทศก็ยิ่งสูงตามเท่านั้น อันเป็นบทพิสูจน์สำคัญของพลังของสตรีในการช่วยพัฒนาประเทศที่ไม่สามารถมองข้ามได้ และทำให้เห็นชัดเจนว่าผู้หญิงนั้น มีศักดิ์ศรีและบทบาทไม่ด้อยไปกว่าผู้ชายในการทำงานและสร้างความเจริญแก่ประเทศแต่ประการใด"
"ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงยังมีความอ่อนโยน ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นพื้นฐานของทักษะในการผลิต การค้า และการบริการที่สำคัญ และความเป็นเพศแม่ช่วยทำให้สังคมมีความเมตตากรุณา ประนีประนอม เกื้อหนุนเพื่อความสงบสันติ นอกจากนี้ ดิฉันเชื่อว่าหากเราทั้งหญิงชายทำงานร่วมกัน เกื้อกูลกัน ทักษะความสามารถที่แตกต่างเมื่อรวมพลังกัน จะนำพามาซึ่งประโยชน์และความเจริญต่อมวลมนุษยชาติได้"

นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บรรยายพิเศษเกี่ยวกับ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย
แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ณ ห้องประชุม LG Convention Hall
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้กล่าวถึงสถานะภาพของสตรีของประเทศไทย ว่า "ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้หญิงไทยนั้นมีสถานะไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงเอเชียทั่วไปและผู้หญิงเกาหลีใต้เท่าใดนัก   กว่าที่ข้าพเจ้ามายืนตรงนี้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้การยอมรับ  และถึงแม้เมื่อดำรงตำแหน่งแล้วก็ยังต้องพิสูจน์ตนเองทุกวันไม่หยุดหย่อน  ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่าเส้นทางของผู้หญิงที่จะประสบความสำเร็จได้มีอุปสรรคขวากหนามมากมาย  ต้องอดทนหนักแน่น และที่สำคัญที่สุดคือการใช้ความสามารถไขว่คว้า “โอกาส” ที่เปิดขึ้นเพื่อจะได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ในการพัฒนาประเทศอันเป็นที่รัก"
"ดังนั้นเหตุผลหนึ่งที่สู่วงการเมือง คือต้องการผลักดันการ “สร้างโอกาส” ให้กับพี่น้องสตรีทุกวัยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวงการธุรกิจ การเมือง  หรืออื่นใดก็ตาม และในการที่จะใช้โอกาสนั้นสร้างสถานภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคงตลอดจนการดูแลครอบครัวและตนเองให้มีความสุขซึ่งวันนี้ประเทศไทย มีรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิของหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน  มีการจัดทำแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติมีการออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อรองรับหลายฉบับ แต่โอกาสและบทบาทของสตรียังสามารถก้าวไกลไปกว่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร"
ดร. คิม ซอน อุ๊ก (Kim Sun Uk) อธิการบดีมหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา
รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายสำคัญและเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมบทบาทสตรี  ด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุน พัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ และความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ผู้หญิงทุกคน ตลอดจนองค์กรและเครือข่ายสตรีสามารถใช้เงินกองทุนเพื่อนำไปเสริมสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการของสตรี รวมทั้งนำไปสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาของสตรี อาทิ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ และการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเพศ  ทั้งนี้กองทุนจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในทุกระดับไม่ว่ายากดีมีจน ในเมืองหรือในชนบทเข้ามามีส่วนร่วมข้าพเจ้าภูมิใจที่จะรายงานให้ทราบว่า หลังจากกองทุนตั้งมาได้เพียง 1 เดือน มีผู้หญิงไทยทั่วประเทศเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน โดยข้าพเจ้าตั้งเป้าว่าต้องการให้ผู้หญิงไทยเข้าเป็นสมาชิกให้ได้มากที่สุดเพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าโอกาสที่เปิดขึ้นจากการมีกองทุนจะทำให้ผู้หญิงไทยมีเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อประโยชน์ของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติต่อไป
พลังของผู้หญิงไม่จำกัดอยู่แต่ในระดับชุมชนหรือประเทศ แต่หากยังสามารถเชื่อมโยงเกื้อหนุนเพื่อประโยชน์ของชาวโลกได้ด้วย เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสหารือกับท่านบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยได้แจ้งแก่ท่านว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ Every Woman Every Child (EWEC) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์โลกสำหรับสุขภาพของสตรีและเด็ก ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความริเริ่มของท่านเลขาธิการสหประชาชาติ ในนามของประเทศไทยได้มอบคำมั่นแสดงเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพของสตรีในประเทศไทย เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสตรี และพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติในการบรรลุซึ่งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ในโอกาสดังกล่าวยังได้แสวงหาความร่วมมือกับสหประชาชาติให้มาช่วยพัฒนาการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของไทย โดยได้เชิญให้องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการกองทุนฯ เพื่อนำประสบการณ์และข้อเสนอแนะมาใช้ประโยชน์ต่อไปด้วย
นายกรัฐมนตรีสรุปในตอนท้ายของการบรรยายว่า "ขอให้กำลังใจกับพี่น้องผู้หญิงที่อยู่ในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ให้ประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าทุกท่านมีความสามารถและมีความพร้อม ดังนั้น หากได้รับโอกาสก็จะสามารถก้าวไปตามความฝันที่ทุกท่านได้ตั้งใจไว้ ก็มั่นใจว่าทุกท่านจะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับบทบาทของสตรี ให้เป็นผู้นำในการพัฒนาสังคมและประเทศ ให้ก้าวไกลดั่ง “อีฮวา” หรือการเบ่งบานของดอกแพร์ตลอดไป"


หมายเหตุ - มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา เป็นสถาบันการศึกษาของเอเชียมีชื่อเสียงทางด้านการศึกษา ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1886 เผยแพร่ความรู้ด้านการศึกษามานานกว่า 120 ปี ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพไปกว่า 150,000 คน ขณะที่มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้จำนวน 21,000 คน  


Photo by InsiderNews Editorial 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น