วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2555

"พงศ์เทพ" หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แนะประชาชนร่วมแสดงความเห็น ให้ประเทศเดินหน้า



(28 มีนาคม 2555, กรุงเทพฯ - InsideThaiGOV) - นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า "เรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดโอกาสให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกส่วนใหญ่จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา เพราะฉะนั้น ถ้าคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างในวาระที่ 2 เสร็จ ก็จะกลับเข้าไปที่รัฐสภาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป ถ้ากระบวนการนี้เสร็จสิ้นนั้น รูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปอย่างที่ร่างของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอเข้าไป แน่นอนว่า เราจะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยประชาชนไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทำนองเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หรือ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วหลังจากนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ กระบวนการนี้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า 180 วัน เท่าที่ตามร่างที่เสนอกันขณะนี้"

สำหรับขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายพงศ์เทพ กล่าวว่า "ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชน เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น เสนอความต้องการของท่าน ว่าท่านต้องการจะเห็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกัน มีสาระสำคัญอย่างไร ที่จะทำให้ประเทศไทยของเราอยู่กันอย่างยุติธรรม เสมอภาค และประเทศไทยของเราเดินหน้าไปได้ ลดความขัดแย้งต่างๆ และก็มีความปรองดองเกิดขึ้น กระบวนการตรงนั้นเป็นส่วนที่สำคัญมาก"

"หลังจากนั้นแล้ว เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จทั้งฉบับ ก็จะต้องไปสู่ขั้นตอนของการลงประชามติโดยพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ การลงประชามติครั้งนี้ จะไม่เหมือนกับการลงประชามติสมัยปี พ.ศ.2550 เพราะในสมัยนั้น เขาบอกท่านว่า ถ้าท่านไม่รับเขาอาจจะเอารัฐธรรมนูญหน้าตาแบบไหนก็ได้ อาจจะแย่กว่าร่างที่ท่านเห็นมาใช้ก็ได้ พี่น้องประชาชนในขณะนั้นก็อยู่ในสภาพที่ถูกขู่บังคับอยู่กลายๆ ว่า ถ้าไม่เห็นชอบจะไปเจอที่แย่กว่าก็ได้"

"สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอนาคตนั้น ท่านจะมีทางเลือกที่ชัดเจนครับ ว่า ถ้าท่านเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศไทย ก็จะได้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้บังคับ แต่ถ้าท่านไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รับธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ก็จะยังใช้บังคับต่อไป เพราะฉะนั้น ทางเลือกชัดเจนครับ"

นายพงศ์เทพ กล่าวในตอนท้ายว่า "สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ล่าสุด เป็นกลไกสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ความหวังของประเทศจริงๆ อยู่กับพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ในการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ การเสนอตัวเข้าสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการเสนอความคิดเห็นต่างๆให้แก่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้แทนของพวกท่านครับ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น