วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

"จาตุรนต์ ฉายแสง" : จับประเด็น ตอบคำถาม ทำไมต้องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ?

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ให้สัมภาษณ์พิเศษ กองบรรณาธิการ InsideThaiGOV
ประเด็น การแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550
เหตุใดจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ?
จาตุรนต์ ฉายแสง : รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความไม่ชอบธรรมและมีปัญหาทั้งที่มาและเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากการรัฐประหาร ถือได้ว่าคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้รับรองการรัฐประหารด้วย การคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปทั้งที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ในสายตาของอารยประเทศเขาถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกลับยอมรับกฎกติกาที่พวกเผด็จการสร้างไว้

ในส่วนของเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมคือให้องค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารหรือผ่านความเห็นชอบมาจากคณะรัฐประหารสามารถล้มรัฐบาล คนไม่กี่คนที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเลยสามารถหักล้างมติของประชาชนทั้งประเทศได้ การตรวจสอบ ควบคุมและถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารรวมทั้งข้าราชการระดับสูงทำโดยองค์กรที่ขาดความชอบธรรมและสามารถเลือกปฏิบัติโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลนอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆที่เป็นปัญหาอีกมากเมื่อใช้รัฐธรรมนูญนี้มาระยะหนึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองถูกทำลายให้อ่อนแอลงอย่างมาก ความไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยที่นับวันจะหนักหนายิ่งขึ้นทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนา ประชาชนเสียประโยชน์ทั้งๆที่ประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออำนวย มีโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆที่พัฒนาก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ แต่ต้องกลับมาติดหล่มความขัดแย้งและยังขาดความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศโดยเฉพาะในระบบความยุติธรรมและความไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ความสนใจที่เขาจะมาลงทุนหรือทำมาค้าขายด้วยน้อยลงไปอย่างมาก

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร?
จาตุรนต์ ฉายแสง : ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา ผู้ที่สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 3 ฝ่ายคือคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา หรือประชาชนแล้วให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีนี้ก็ได้ แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาเองก็มีการคัดค้านกันมากว่าจะแก้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาเอง พอคนคิดกันอย่างนี้มากๆเข้าก็ทำให้แก้โดยวิธีนี้จะสำเร็จได้ยาก เป็นที่มาของการมีสสร.ขึ้น นอกจากนั้นก็มีการเสนอว่าหลังจากร่างเส็จแล้วควรให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสินเป็นขั้นตอนสุดท้าย การจะมีสสร.และการลงประชามตินี้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นถ้าจะให้มีขึ้นจึงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งเป็นมาตราว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน

สสร.ควรมีที่มาและองค์ประกอบอย่างไร?
จาตุรนต์ ฉายแสง : ที่ผ่านมาเคยมีสสร.มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ในปี 40 ให้ผู้สมัครในแต่ละจังหวัดเลือกกันเองให้เหลือ10 คน แล้วให้รัฐสภาเลือกให้เหลือจังหวัดละคน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิก็ให้วงการวิชาการสรรหากันมาแล้วให้รัฐสภาเลือก ส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสสร.มาจากการสรรหาแล้วให้คมช.เลือก ครั้งนี้จะใช้วิธีการอย่าง 2 ครั้งก่อนคงไม่ได้ แบบคมช.นั้นเป็นเผด็จการเต็มที่ ส่วนแบบปี 40 ก็อาจยังไม่เป็นที่ยอมรับเพียงพอ เมื่อการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาก การให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นคนตัดสินจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด ดังนั้นสสร.จึงควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

สสร.ควรมีจำนวนเท่าไหร่นั้นย่อมขึ้นกับภารกิจที่จะมาทำคือการร่างรัฐธรรมนูญ น้อยไปก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่ดี จะมาจากจังหวัดละคนหรือจะเป็นสัดส่วนกับประชากร เป็นเรื่องที่หารือกันได้ในขั้นตอนต่อไป
สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาช่วยยกร่างนั้นอาจให้วงการวิชาการเสนอมาหรือสมัครมาเองแล้วให้รัฐสภาเลือกหรือจะให้สสร.เลือกอีกทีก็ได้ บางคนเสนอให้สมัครกันเองแล้วให้ประชาชนทั้งประเทศเลือกโดยตรงไปเลย ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เรื่องเหล่านี้หารือกันคงมีข้อยุติที่ดีได้

ทำไมต้องมีการลงประชามติ การลงประชามติควรมีก่อนหรือหลังการยกร่าง?
จาตุรนต์ ฉายแสง : การลงประชามติเป็นเรื่องจำเป็นทำให้รัฐธรรมนูญใหม่มีความขอบธรรม คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีโอกาสล้มร่างนั้นเสียก็ได้ หากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยร่างนั้นก็ต้องตกไป ถ้าเห็นด้วยก็ผ่าน แล้วใครจะมาฉีกก็จะยาก คนส่วนใหญ่จะไม่ยอม

การลงประชามติก่อนยกร่างนั้นมีปัญหาว่าจะถามว่าอย่างไร ถามว่าแก้หรือไม่นั้นไม่มีความหมาย เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะแก้มากหรือน้อยในเรื่องอะไร ถ้าออกมาว่าไม่ให้แก้ก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่บอกว่าแก้ได้ จะกลายเป็นว่าต่อไปใครก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้อีกเลยหรือ การลงประชามติก่อนยกร่างจึงไม่เป็นประโยชน์ เป็นการสูญเปล่า

ที่ควรให้ความสำคัญสำหรับการลงประชามติคือ ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตลอดจนความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง ต้องให้เป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ต้องเปิดโอกาส ส่งเสริมให้มีการรณรงค์ได้อย่างเสรี จัดเวลาให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อสาธารณชนได้เต็มที่และเท่าเทียมกันให้มากที่สุด อย่าทำเหมือนการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทำแบบมัดมือชกฝ่ายเดียว ไม่อนุญาตให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้มีโอกาสสื่อสารกับประชาชน ขณะนั้นยังคงใช้กฎอัยการศึกในหลายสิบจังหวัด ใครไม่เห็นด้วยก็จับไปขังในค่ายทหาร ปล่อยให้พูดได้อยู่ฝ่ายเดียว และยังออกกติกาด้วยว่าถ้าไม่ผ่านก็ให้คมช.นำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ก็ได้ตามใจชอบ การลงประชามติอย่างนั้นเป็นเรื่องลวงโลก รัฐบาลนี้ไม่ควรทำอย่างนั้นอีก

ควรแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นอะไร มาตราใดบ้าง?
จาตุรนต์ ฉายแสง : รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาสำคัญๆจำนวนมากที่ต้องแก้ ถึงได้เรียกกันว่าต้องยกร่างกันใหม่ แต่เมื่อจะแก้หรือยกร่างใหม่โดยสสร.ก็คงต้องช่วยกันให้แก้มาตรา 291 ให้สำเร็จเสียก่อนแล้วค่อยมาว่ากันที่เนื้อหาสาระที่จะแก้ ถึงตอนนั้นควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเสนอความเห็นกันได้เต็มที่

ใครควรเป็นผู้เสนอแก้มาตรา 291?
จาตุรนต์ ฉายแสง : เท่าที่เป็นข่าว ขณะนี้ประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อกันอยู่ใกล้จะยื่นได้แล้ว นี่ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน นอกจากนี้เข้าใจว่าสส.ฝ่ายรัฐบาลก็เตรียมเสนอร่างเช่นกัน ก็สอดคล้องกับที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง ก็เหลือแต่รัฐบาล เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วรัฐบาลก็คงต้องเสนอด้วยเพราะรัฐบาลก็แถลงนโยบายไว้ว่าจะแก้ แถมยังแถลงไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะทำใน 1 ปีด้วย นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่าประชาชนเห็นต่างกันในเรื่องเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ ก็ชอบแล้วที่รัฐบาลจะหาทางออกให้สังคมด้วยการให้มีสสร.ที่มาจากประชาชนมาร่างแล้วให้ประชาชนตัดสินด้วยการลงประชามติเท่ากับรัฐบาลกำลังช่วยหาทางออกให้กับสังคม

จะแก้เมื่อไหร่ดี?
จาตุรนต์ ฉายแสง : ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ขณะนี้ความจริงก็ช้าไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สายไป ถ้าจะให้ทันกำหนดหนึ่งปีก็คงต้องเริ่มในเร็วๆนี้จะได้แก้มาตรา 291 ได้ทันในสมัยประชุมนิติบัญญัติ มิฉะนั้นจะไปติดช่วงปิดสมัยประชุม เปิดอีกทีก็สิงหาคมก็ไม่ทันกำหนดแล้ว ที่ว่าทำใน 1 ปีนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องเสร็จทั้งฉบับ แต่ควรจะแก้มาตรา 291ให้เสร็จ เมื่อแก้มาตรา 291 แล้วยังต้องเลือกสสร. ต้องยกร่างแล้วยังต้องทำประชามติ ยังต้องใช้เวลาอีกเป็นปี

มีข้อโต้แย้งว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความขัดแย้ง?
จาตุรนต์ ฉายแสง : ก็จริง การแก้รัฐธรรมนูญย่อมทำให้เกิดการต่อต้านคัดค้าน จนอาจเกิดความรุนแรง ก็ต้องดูว่าการคัดค้านนั้นมีเหตุผลหรือไม่ ใช้วิธีการที่ถูกต้องหรือไม่และมีทางออกที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้หรือไม่ ป้องกันหรือลดความขัดแย้งหรือความรุนแรงได้หรือไม่ การให้มีสสร.และการลงประชามติน่าจะช่วยลดปัญหานี้ได้มาก

แต่ไม่แก้ก็ขัดแย้ง สังคมไทยอยู่กับความขัดแย้งมาหลายปีแล้ว ขณะนี้ก็ยังขัดแย้งกันอยู่ ยิ่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปนานเท่าใดก็จะยิ่งมีความขัดแย้งมากขึ้น การที่มีความพยายามที่จะปรองดองเป็นเรื่องดีและคงช่วยลดความขัดแย้งได้บ้าง แต่ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญที่เป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้ง การปรองดองที่เป็นจริงก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ก็ยังจะขัดแย้งไม่จบสิ้นและรุนแรงกว่าเดิม การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมและให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ความจริงแล้วคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยในระยะยาว เมื่อแก้แล้วก็มารณรงค์กันให้สังคมไทยมีค่านิยมที่ยอมรับกติกา แก้ปัญหาการมีความคิดที่แตกต่างกันที่ยังมีอยู่ตลอดไปด้วยด้วยสันติวิธีในระบบกติกาที่เป็นธรรม

ข้อกล่าวหาว่าแก้เพื่อคนๆเดียว?
จาตุรนต์ ฉายแสง : เหตุผลสำคัญที่มักใช้ในการต่อต้านขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญก็คือการทำเพื่อคนๆเดียว ทั้งๆที่ความจริงแล้วการมุ่งทำลายคนๆเดียวต่างหากที่เป็นต้นเหตุให้ประชาธิปไตยและระบบยุติธรรมของประเทศนี้ต้องถูกทำลายเสียจนยับเยินอย่างทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลหรือรัฐสภาจะแก้รัฐธรรมนูญเองทั้งหมดคงหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหานี้ได้ยาก ถึงไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อคนๆเดียวเขาก็หาเรื่องได้อยู่ดี ดังนั้นการที่สสร.ที่มาจากประชาชนจะเป็นคนร่าง แล้วยังให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติได้อีกซึ่งเท่ากับว่าไม่มีใครกำหนดอะไรได้ จึงเป็นวิธีที่จะทำให้ข้อกล่าวหาที่ว่าทำเพื่อคนๆเดียวก็คงไม่มีน้ำหนักต่อไป

หมายเหตุ - บทสัมภาษณ์ "จาตุรนต์ ฉายแสง"  โดย InsiderNews Editorial และ กองบรรณาธิการ InsideThaiGOV



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น